31 ก.ค. 2567 457 17

รองนายกฯ สั่งการ สกมช. ปฏิบัติการเชิงรุกยกระดับป้องกันประชาชน เช็กความปลอดภัย คุมเข้มระบบ Digital Wallet

รองนายกฯ สั่งการ สกมช. ปฏิบัติการเชิงรุกยกระดับป้องกันประชาชน เช็กความปลอดภัย คุมเข้มระบบ Digital Wallet

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 2/2567ณ ห้องประชุมวิมวาทิตย์ 1 กระทรวงพาณิชย์ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้


พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการการประชุม กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้มีการรายงานผลการปฏิบัติของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติและรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคามและผลการดำเนินการเหตุการณ์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในห้วง 6 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งผลการปฏิบัติการเกี่ยวกับแอปดูดเงินที่สามารถสกัดเงินไม่ให้เงินไหลออกจากบัญชีเหยื่อแบบเรียลไทม์ หรือ สามารถอายัดบัญชีได้ในทันที ซึ่งที่ผ่านมานั้น สกมช. สามารถช่วยประชาชนมากกว่า 65 ราย กว่า 120 บัญชี รวมมูลค่าความเสียหายบางรายมากถึง 6 ล้านบาท ขานรับนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน, ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ให้ยกระดับภัยคุกคามจากแอปดูดเงินเป็นภัยไซเบอร์ระดับร้ายแรง ภายใต้ พ.ร.บ. ไซเบอร์ฯ นอกจากนี้ สกมช. ยังให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและความรัดกุมสำหรับระบบโครงการ Digital Wallet ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงทะเบียน ระบบการยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์ ก่อนใช้งานจริงจะต้องมีการตรวจสอบระบบให้รอบคอบ ซึ่งจะต้องปลอดภัยมากที่สุด ตามแผนงานที่รัฐบาลกำหนดไว้

ประเสริฐ รมว.ดีอี เปิดเผยว่า จากการที่ประชุม กกม. ได้ประกาศยกระดับจัดให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์
ที่เกิดจากแอปดูดเงิน เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง และมีข้อสั่งการให้ สกมช. ร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP) รวมถึงสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงอย่างทันท่วงที อาทิ ระงับการเชื่อมต่อไปยังแอปดูดเงินตัดวงจรการเชื่อมต่อระบบการควบคุมของมิจฉาชีพ และหยุดการโอนเงินของมิจฉาชีพผ่านระบบ Mobile Banking รวมทั้งการป้องกันประชาชนไม่ให้ถูกหลอกติดตั้งแอปดูดเงิน ก่อนเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินออนไลน์ให้ประชาชน


ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี/ประธาน กมช. เน้นย้ำว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการดูแลพี่น้องประชาชน โดยเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ สกมช. ปฏิบัติการเชิงรุกภายหลังจากที่ได้มีการดำเนินยกระดับจัดให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดจากแอปดูดเงิน เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินออนไลน์ให้ประชาชน รวมถึงเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนโยบาย Digital Wallet ให้มีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งการประชุมในวันนี้ คณะกรรมการฯ ยังให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระบบคลาวด์ พ.ศ. .... เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบาย Cloud First Policy ตามนโยบายการใช้คลาวน์ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของภาครัฐให้มีความมั่นคงปลอดภัย


พลอากาศตรี อมร ชมเชย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประชุมครั้งนี้นอกจากจะมีการสั่งการเกี่ยวกับแอปดูดเงินแล้ว ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบการเห็นชอบในบันทึกความร่วมมือระหว่าง สกมช. กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ และยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และยังเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง สกมช. และหน่วยงานอื่นต่อไป  รวมทั้ง สกมช. ต้องบังคับใช้ให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ และกฎหมายฉบับรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศมีหน้าที่ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ตามประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐาน ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตัวอย่างกรณีเหตุการณ์ Crowdstrike วิกฤตจอฟ้า ที่เกิดขึ้น พบว่ามีผลกระทบกับบางระบบงานในประเทศไทยบ้าง แต่เนื่องจากที่ผ่านมา สกมช. ได้มีการฝึก และเตรียมความพร้อมตลอดจนส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานมีการจัดทำแผนรับมือ ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้
จึงไม่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานในวงกว้าง


ขณะที่ ประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน รัฐบาลได้เปิดจุดให้บริการ (Walk – in) ของหน่วยงานรัฐ 5,207 จุดทั่วประเทศ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูล และมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ  ดังนี้

1.ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1,722 ศูนย์ทั่วประเทศ

2.ที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 1,200 แห่ง ทั่วประเทศ (ยกเว้น ไปรษณีย์อนุญาต (เอกชน) และร้านค้าให้บริการ)

3.ธนาคารออมสิน 1,047 แห่ง ทั่วประเทศ

4.ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1,238 แห่งทั่วประเทศ

รวมจำนวนจุดให้บริการทั้งหมด 5,207 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นข้อมูลโดยตรงจากรัฐบาล ที่เชื่อถือได้ ในเว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านศูนย์บริการข้อมูลโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง 


“กระทรวง ดีอี ตรวจพบการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการก่ออาชญกรรมออนไลน์ การหลอกลวงในแพลตฟอร์ม โซเชียล และสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งข่าวบิดเบือนข้อมูลของโครงการฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน และมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชน ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมผ่านช่องทางที่รัฐบาล กระทรวงดีอี และกระทรวงการคลัง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้อย่างเป็นทางการ และแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เท่านั้น อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ หลอกลวงส่งลิงก์ หรือแพลตฟอร์มปลอมต่างๆ โดยอ้างว่าเป็นช่องทางการลงทะเบียน หรือข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ซึ่งอาจมีผลให้ข้อมูลส่วนบุคคลหลุดรอด หรือสูญเสียทรัพย์สินได้” ประเสริฐ รมว.ดีอี กล่าว 

COMMENTS