ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการจัดกิจกรรมเสริมสร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ในสถานศึกษา ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center: AFNC) ร่วมด้วย ดร.เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดีอี วัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรีฯ และผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวง ดีอี ในพื้นที่ ณ โรงเรียนนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
ประเสริฐ กล่าวว่า การสร้างความตระหนักรู้ เสริมสร้างทักษะการใช้งานเทคโนโลยี สร้างภูมิคุ้มกัน และแนวทางป้องกันภัยทางออนไลน์ ถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวง ดีอี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัล และรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชน ทั้งในการเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหาและข่าวสารที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต สร้างความเข้าใจในการวิเคราะห์ข่าว รู้จักแยกแยะข้อความที่เป็นข่าวจริง ข่าวปลอม และข่าวบิดเบือน
ดังนั้น กระทรวง ดีอี จึงกำหนดจัดกิจกรรมนิทรรศการสร้างความรู้ และเสริมทักษะรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ในสถานศึกษา ให้กับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างทักษะการป้องกันภัยและรับมือกับข่าวปลอมให้กับเยาวชน โดยปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับวัย พร้อมกับการบรรยายพิเศษเรื่อง วิธีรับมือข่าวปลอมในยุคดิจิทัล โดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ
ขณะเดียวกัน กระทรวง ดีอี ยังได้มุ่งเน้นส่งเสริมทักษะการใช้งานเทคโนโลยี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ในการวิเคราะห์เชิงลึก สามารถแยกแยะและตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย ปิดกั้นช่องทางการก่ออาชญากรรมออนไลน์ของมิจฉาชีพ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
โดยสามารถแจ้งเบาะแส สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง ได้ที่
เว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย www.antifakenewscenter.com
Line OA: @antifakenewscenter
เฟซบุ๊ก แฟนเพจ : Anti Fake News Center Thailand
ทวิตเตอร์ (X) : https://twitter.com/AFNCThailand
Tiktok: @antifakenewscenter
Instagram : afnc_thailand
“ที่ผ่านมา กระทรวง ดีอี โดยศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ตรวจพบว่ามีข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่มีการแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเนื้อหาไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง อาทิ ข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข่าวภัยพิบัติ ข้อมูลความรู้เรื่องสุขภาพอนามัย ด้านนโยบายรัฐ และด้านอื่น ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศในวงกว้าง นอกจากนี้ยังอาจเป็นช่องทางการหลอกลวงการก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพ ดังนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคมในการต่อต้านข่าวปลอม โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ และเป็นสื่อสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างหน่วยงาน โรงเรียน และสถาบันครอบครัว เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ ก่อนจะเผยแพร่ หรือ ส่งต่อสื่อสังคมออนไลน์ เป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญเพื่อป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ได้ในอนาคต” ประเสริฐ กล่าว