3 ส.ค. 2567 6,384 2

ดีอี-คลัง จับมือ ธ.กรุงไทย เปิดจุดบริการ Walk-in ลงทะเบียน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เพิ่มอีก 900 แห่ง พร้อมเตือนอย่าแชร์เพจทางรัฐปลอม

ดีอี-คลัง จับมือ ธ.กรุงไทย เปิดจุดบริการ Walk-in ลงทะเบียน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เพิ่มอีก 900 แห่ง พร้อมเตือนอย่าแชร์เพจทางรัฐปลอม

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวง ดีอี กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย ร่วมเปิดจุดให้บริการช่วยเหลือประชาชน รับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เพิ่มเติม ณ ธนาคารกรุงไทย 900 สาขา ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567

กระทรวง ดีอี ได้รับรายงานการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โดยมีประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 20.7 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2567) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนกลุ่มผู้ที่มีสมาร์ตโฟน ที่อาจประสบปัญหา และไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร หรือต้องการความช่วยเหลือในการลงทะเบียนฯ นอกเหนือจากการลงทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” กระทรวง ดีอี จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดสถานที่จุดให้บริการ (Walk – in) สอบถามข้อมูล และให้บริการรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ดังนี้

1.ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1,722 ศูนย์ทั่วประเทศ

2.ที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 1,200 แห่ง ทั่วประเทศ (ยกเว้น ไปรษณีย์อนุญาต (เอกชน) และร้านค้าให้บริการ)

3.ธนาคารออมสิน 1,047 แห่ง ทั่วประเทศ

4.ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1,238 แห่งทั่วประเทศ

5.ธนาคารกรุงไทย จำนวน 900 แห่ง ทั่วประเทศ

ดังนั้น ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถสอบถามข้อมูล และลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่จุดบริการ Walk-in โดยขณะนี้ได้มีการเพิ่มจุดบริการ ธนาคารกรุงไทย อีก 900 แห่ง รวมเป็นจำนวน 6,107 แห่งทั่วประเทศ 

ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวง ดีอี กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้บริการอำนวยความสะดวกประชาชนตลอดเวลาทำการ

ขณะที่กลุ่มผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน จะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน – 1 ตุลาคม 2567 โดยรัฐบาลจะมีการแจ้งวิธีการลงทะเบียนและจุดให้บริการอย่างเป็นทางการต่อไป

สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นข้อมูลโดยตรงจากรัฐบาล ที่เชื่อถือได้ ในเว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านศูนย์บริการข้อมูลโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โทรสายด่วน. Digital Wallet 1111 พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง 

กระทรวง ดีอี กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความห่วงใยประชาชน ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โดยได้จัดสถานที่ เป็นจุดให้บริการแบบ Walk-in เพื่อช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกด้านการสอบถามข้อมูล และให้บริการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 6,107 จุดทั่วประเทศ โดยมีศูนย์ดิจิทัลชุมชน และที่ทำการไปรษณีย์ ในสังกัดกระทรวง ดีอี และ 3 ธนาคารรัฐ ได้แก่ ธ.ออมสิน ธ.กรุงไทย และ ธ.ก.ส. ในความดูแลของกระทรวงการคลัง เพิ่มเติมจากการลงทะเบียนผ่านแอปฯ ทางรัฐ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของประชาชน” ประเสริฐ กล่าว

ดีอี เตือน อย่าแชร์ 'รัฐบาลเปิดเพจทางรัฐใหม่ ชื่อว่า ทางรัฐ – เงินดิจิทัล' ชี้เป็นเพจปลอม 'โจรออนไลน์'

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “รัฐบาลเปิดเพจทางรัฐใหม่ ชื่อว่า ทางรัฐ – เงินดิจิทัล” รองลงมาคือเรื่อง “ออมสินให้ยืมก่อน จ่ายคืนทีหลัง ระยะเวลากู้สูงสุด 36 เดือน ผ่านเพจ KLT BNG 31642” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง


เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 844,219 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 221  ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 202  ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 16 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 3 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 167 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 151 เรื่อง 


ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 102 เรื่อง 

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 36 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 2 เรื่อง 

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 12 เรื่อง 

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 15 เรื่อง

เวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความมั่นคง ซึ่งเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐบาล อย่างโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน รองลงมาเป็นข่าวการติดต่อทำธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง  รัฐบาลเปิดเพจทางรัฐใหม่ ชื่อว่า ทางรัฐ – เงินดิจิทัล

อันดับที่ 2 : เรื่อง ออมสินให้ยืมก่อน จ่ายคืนทีหลัง ระยะเวลากู้สูงสุด 36 เดือน ผ่านเพจ KLT BNG 31642

อันดับที่ 3 : เรื่อง คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก

อันดับที่ 4 : เรื่อง ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมว ทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด

อันดับที่ 5 : เรื่อง เวลาเข้านอนบ่งบอกสุขภาพในอนาคต

อันดับที่ 6 : เรื่อง โฆษณาผลิตภัณฑ์ YesCare เป็นต้อหินมาหลายปี กินแล้วดีขึ้นเรื่อย ๆ

อันดับที่ 7 : เรื่อง  การบินไทยรับสมัครงาน รายได้ 20,000 บาท ผ่านเพจ Thai Alrways

อันดับที่ 8 : เรื่อง ธอส. มอบรัก ช่วยปิดหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้บัตรเครดิต ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์

อันดับที่ 9 : เรื่อง  หากผู้อื่นรู้เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์ ทำให้รู้ยอดเงินในธนาคารได้

อันดับที่ 10 : เรื่อง ปัสสาวะกลางคืนแล้วไม่ดื่มน้ำทดแทน ทำให้เกิดภาวะการอุดตันของหัวใจและสมอง

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอันดับ 1 ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาล เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเป็นการสร้างข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือน กรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลว่า” รัฐบาลเปิดเพจทางรัฐใหม่ ชื่อว่า ทางรัฐ – เงินดิจิทัล”  กระทรวง ดีอี ขอชี้แจงว่า เพจดังกล่าวเป็นเพจปลอมที่มิจฉาชีพแอบอ้างใช้โลโก้และชื่อโครงการของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเพจดังกล่าวทั้งสิ้น จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

ซึ่งหากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งในส่วนตัวบุคคล หรือหากมีการแชร์ เผยแพร่ ต่อๆกันไป อาจกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้างได้” เวทางค์กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้น จึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

สอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ตโทรสายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชม.)

สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) 

Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com 

COMMENTS