5 ส.ค. 2567 3,202 28

'วันสื่อสารแห่งชาติ' ปี 2567 ดีอี ยกระดับชีวิตคนไทยด้วยดิจิทัล พร้อมทำหน้าที่เฝ้าระวังภัยออนไลน์ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

'วันสื่อสารแห่งชาติ' ปี 2567 ดีอี ยกระดับชีวิตคนไทยด้วยดิจิทัล พร้อมทำหน้าที่เฝ้าระวังภัยออนไลน์ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ดีอี จัดนิทรรศการ “วันสื่อสารแห่งชาติ” ปี 2567 เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยดิจิทัล



ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการวันสื่อสารแห่งชาติ หัวข้อ "สื่อสารยุคดิจิทัลไร้ขีดจำกัด: เชื่อมโยง ผนึกพลัง ก้าวสู่อนาคต Inclusive Communication in the Digital Age: Bridging the Divide Embracing the Future" ร่วมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ดีอี นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวง ดีอี, สุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ, วัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรีฯ ผู้บริหารกระทรวง ดีอี และหน่วยงานในสังกัด พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 21 หน่วยงาน ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 9 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT)



ประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวง ดีอี ได้จัดนิทรรศการวันสื่อสารแห่งชาติประจำปี 2567  ภายใต้หัวข้อ "สื่อสารยุคดิจิทัลไร้ขีดจำกัด: เชื่อมโยง ผนึกพลัง ก้าวสู่อนาคต" เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารในยุคดิจิทัลที่ไร้ขอบเขต และความจำเป็นในการสร้างการเชื่อมโยง ลดช่องว่างและก้าวไปสู่อนาคตร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการของการสื่อสารในประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 141 ปี




รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ 2) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และ 3) การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล


ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้คนไทยทุกคน สามารถเข้าถึงการสื่อสารดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีความมั่นคงและปลอดภัย เอื้อต่อการพัฒนาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ หรือการบริการภาครัฐ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


ขณะที่ในอีกมิติหนึ่ง เราก็กำลังเผชิญความท้าทายกับปัญหาด้านอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยเป็นวงกว้าง

“ดังนั้น ภารกิจของกระทรวง ดีอี จึงเดินหน้าไปในรูปแบบของการวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ เป็นภูมิคุ้มกันให้กับคนไทย สร้างความเชื่อมั่นการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งเร่งเดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อลดผลกระทบ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ สายด่วน AOC 1441 ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานพันธมิตร รับเรื่องร้องเรียนปัญหาอาชญากรรมออนไลน์จากประชาชน ในรูปแบบ One Stop Service โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยให้การทำงาน ง่ายและฉับไว สกัดกั้นเส้นทางการเงิน ระงับการทำธุรกรรมได้ทันท่วงที” ประเสริฐ กล่าว







นอกจากนี้ กระทรวง ดีอี ยังมีภารกิจการสนับสนุนการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ของรัฐบาล พร้อมทั้งตรวจสอบและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการฯ บรรลุตามเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานความร่วมมือ รวมพลังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทยทุกคน