5 ส.ค. 2567 6,547 7

ดีอี ตัดวงจรและสกัดปิด แพลตฟอร์ม 'ทางรัฐ-ดิจิทัลวอลเล็ต' ของปลอม กว่า 90 ช่องทาง เตือน ปชช. เช็คให้ชัวร์ ก่อนลงทะเบียน

ดีอี ตัดวงจรและสกัดปิด แพลตฟอร์ม 'ทางรัฐ-ดิจิทัลวอลเล็ต' ของปลอม กว่า 90 ช่องทาง  เตือน ปชช. เช็คให้ชัวร์ ก่อนลงทะเบียน

ปัจจุบันโครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ของรัฐบาล หรือ "ดิจิทัลวอลเล็ต" มีความคืบหน้าเมื่อมีการเปิดให้ลงทะเบียนและประชาชนสนใจสมัครพร้อมยืนยันตัวตนถึง 24 ล้านคน ลำดับต่อไปเป็นการรอวันกำหนดลงทะเบียนร้านค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ DGA "แอปทางรัฐ" 

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวง ดีอี โดย ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ เครือข่าย  ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเติมเงิน 10,000 ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

จากการติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวัง ตลอดระยะเวลา 5 วันของการเปิดให้เริ่มลงทะเบียนโครงการฯ พบการกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ในแพลตฟอร์มต่างๆ และประสานงานดำเนินการปิดกั้นแพลตฟอร์มแล้ว ดังนี้

1.แอปพลิเคชันปลอม หลอกลงทะเบียน จำนวน 6 แอปพลิเคชัน

2.เฟซบุ๊ก แฟนเพจปลอม “ทางรัฐ-เงินดิจิทัล” จำนวน 90 เพจ

3.ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน จำนวนกว่า 20 ข่าว

4.เว็บไซต์ปลอม “dga-thai.com” จำนวน 1 เว็บไซต์

“กระทรวง ดีอี ได้ดำเนินการประสานผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มหลอกลวงทั้งหมดแล้ว พร้อมดำเนินการตามกฎหมายกับมิจฉาชีพอย่างถึงที่สุด โดยถือว่าการกระทำดังกล่าว ทั้งการเปิดแอปฯ เว็บไซต์ เพจปลอม ข่าวปลอม หรือข้อมูลบิดเบือน เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ร้ายแรง ซึ่งสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และความเสียหายต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง เนื่องจากเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ  และช่วยเหลือประชาชน ซึ่งคนไทยกำลังให้ความสนใจมากที่สุดในปัจจุบัน” ประเสริฐ กล่าว

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นข้อมูลโดยตรงจากรัฐบาลที่เชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านศูนย์บริการข้อมูล

โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง


ในส่วนของการติดตั้งแอปพลิเคชัน ทางรัฐ เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิฯ สามารถดาวน์โหลดผ่าน App Store และ Google Play Store เท่านั้น

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนกลุ่มผู้ที่มีสมาร์ตโฟน ที่อาจประสบปัญหา และไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร หรือต้องการความช่วยเหลือในการลงทะเบียนฯ นอกเหนือจากการลงทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” กระทรวง ดีอี จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดสถานที่จุดให้บริการ (Walk-in) สอบถามข้อมูล และให้บริการรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ รวมเป็นจำนวน 6,107 แห่งทั่วประเทศ เวลาทำการ ดังนี้


1.ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1,722 ศูนย์ทั่วประเทศ

2.ที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 1,200 แห่ง ทั่วประเทศ (ยกเว้น ไปรษณีย์อนุญาต (เอกชน) และร้านค้าให้บริการ)

3.ธนาคารออมสิน 1,047 แห่ง ทั่วประเทศ

4.ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1,238 แห่งทั่วประเทศ

5.ธนาคารกรุงไทย จำนวน 900 แห่ง ทั่วประเทศ

ขณะที่กลุ่มผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน จะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567 โดยรัฐบาลจะมีการแจ้งวิธีการลงทะเบียนและจุดให้บริการอย่างเป็นทางการต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวง ดีอี มีความห่วงใยประชาชน โดยขอเตือนให้ประชาชนอย่าเชื่อ อย่าแชร์ อย่ากดลิงก์ ที่น่าสงสัย หรือไม่แน่ใจ ซึ่งอาจมีการส่งต่อๆกันในสื่อสังคมออนไลน์ โดยหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต สามารถโทรสายด่วน Digital Wallet 1111 ตลอด 24 ชม.

สอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชม.)