13 ส.ค. 2567 176 0

AOC 1441 เตือนภัย 'โจรออนไลน์' ข่มขู่หลอกเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตุ๋นเหยื่อโอนเงิน อ้างพัวพันบัญชีม้า สูญเงินกว่า 5 ล้านบาท

AOC 1441 เตือนภัย 'โจรออนไลน์' ข่มขู่หลอกเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตุ๋นเหยื่อโอนเงิน อ้างพัวพันบัญชีม้า สูญเงินกว่า 5 ล้านบาท

วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 8-11 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย


คดีที่ 1 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน Call Center มูลค่าความเสียหาย 2,270,000 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร จังหวัดขอนแก่น แจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการฟอกเงิน จากนั้นให้เพิ่มเพื่อน ทาง Line โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินที่มีอยู่ในบัญชีธนาคารให้ตำรวจตรวจสอบเส้นทาง การเงินและจะโอนกลับคืนให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ต่อมาภายหลังปรึกษาลูกชาย จึงทราบว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน Call Center มูลค่าความเสียหาย 1,962,100 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร อำเภอแม่สาย แจ้งว่าคนร้ายนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคารกรุงไทยสาขาจังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นบัญชีมิจฉาชีพ (บัญชีม้า) ในการฟอกเงิน จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line แล้ว VDO Call พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลคดี โดยให้โอนเงินไปเพื่อตรวจสอบเส้นทาง การเงินและจะโอนคืนกลับให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปตามที่เจ้าหน้าที่บอก สุดท้ายผู้เสียหายไม่ได้รับเงินโอนคืนและไม่สามารถติดต่อได้อีก จึงเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น มูลค่าความเสียหาย 742,630 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท Shopee แจ้งว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลเครื่องทำน้ำอุ่น 1 เครื่อง จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line แล้วดึงให้เข้า Group Line เข้าร่วมกิจกรรมกดถูกใจสินค้าเพื่อรับค่าคอมมิชชัน โดยมี แอดมินในกลุ่มคอยแนะนำขั้นตอน ให้ลงทุนเงินเข้าไปก่อนในระยะแยกผู้เสียหายได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังให้ลงทุนมากขึ้น ผู้เสียหายไม่ไหวขอปฏิเสธ แอดมินแจ้งว่า ทำผิดกฎต้องชำระค่าปรับและภาษีทางบริษัทก่อน จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 135,000 บาท โดยผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาสินเชื่อบุคคล ผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไป สอบถามพูดคุย 

จากนั้นมิจฉาชีพให้เพิ่มเพื่อนทาง Line ส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และแจ้งว่าบริษัทได้อนุมัติสินเชื่อแล้วแต่ต้องมีค่าประกันสินเชื่อ ผู้เสียหายจึงโอนเงินไป ต่อมาแจ้งว่าผู้เสียหายได้กรอกข้อมูลผิดพลาดในระบบ ให้โอนเงินเพื่อแก้ไข แต่ผู้เสียหายไม่โอนเงินไป จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 5,000 บาท ผู้เสียหายพบเห็นร้านบริการนวดสปา ผ่านช่องทาง Line จึงสนใจทักไปสอบถามพูดคุย และเพิ่มเพื่อนทาง Line ได้ตกลงให้มาบริการนวดนอกสถานที่ โดยได้โอนเงินค่าบริการและค่าเดินทางไปทั้งหมด ภายหลังจากโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่า ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 5,114,730 บาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 

9 สิงหาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 924,155 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,266 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 266,363 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,105 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 79,321 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.78 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 64,202 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.10 (3) หลอกลวงลงทุน 44,651 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 16.77 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 20,430 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.67 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 20,038 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.52 (และคดีอื่นๆ 37,721 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.16)

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้ใช้การติดต่อผ่านช่องทางโทรศัพท์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่ ผู้เสียหายเกี่ยวกับคดีความ และให้ผู้เสียหายติดต่อผ่านทาง โซเชียลมีเดีย คือ Line  และ Facebook  เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน ทั้งนี้ขอย้ำว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้ ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน และติดต่อสอบถามไปยังสถานีตำรวจท้องที่นั้นๆ โดยตรง หรือผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันในบางเคสควรตรวจสอบบัญชี โซเชียลมีเดีย อย่างรอบคอบก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง” วงศ์อะเคื้อ กล่าว

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441

สอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชม.)

แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) |  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com