15 ส.ค. 2567 624 3

รมว.ดีอี เปิดงาน 'Huawei Cloud Summit Thailand' ชู 'Cloud First Policy' ขับเคลื่อน 'รัฐบาลดิจิทัล' มุ่งสู่ IGNITE THAILAND

รมว.ดีอี เปิดงาน 'Huawei Cloud Summit Thailand' ชู 'Cloud First Policy' ขับเคลื่อน 'รัฐบาลดิจิทัล' มุ่งสู่ IGNITE THAILAND

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในการเปิดงาน Huawei Cloud Summit Thailand ภายใต้ธีม "Ignite Thailand: Digital for All" ร่วมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ดีอี ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


ประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาล ได้ประกาศวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนประเทศ "IGNITE THAILAND" เพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ไปสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก พร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วยการเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ 8 ด้าน ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.เกษตรกรรมและอาหาร 4.การบิน 5.โลจิสติกส์ 6.ยานยนต์แห่งอนาคต 7.การเงิน และ 8.เศรษฐกิจดิจิทัล



ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลพร้อมต้อนรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Digital for all Technology Innovation AI ที่ต้องการลงทุนและขยายธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยี High Tech ต่าง ๆ ทั้งการลงทุนโรงงานผลิต Semiconductor, การตั้งศูนย์ Data Center รองรับ Cloud Computing พร้อมเงินสนับสนุนบริษัทที่ต้องการผ่านกองทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการทำ Matching Fund เติมทุนให้กับบริษัทที่มีศักยภาพ

ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี ได้การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ด้วยการวางรากฐานรัฐบาลดิจิทัลที่มั่นคง ปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และทุกภาคส่วน ผ่านการผลักดันการใช้งานระบบคลาวด์กลาง เป็นโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานหลักของภาครัฐ  ด้วยโครงการระบบคลาวด์กลาง GDCC ภายใต้ความดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ซึ่งปัจจุบันรองรับหน่วยงานใช้บริการมากกว่า 800 หน่วยงาน และมีระบบงานหลักของรัฐที่โอนย้ายมายังระบบคลาวด์กลางแล้วกว่า 3,000 ระบบงาน  

ขณะเดียวกัน เพื่อยกระดับความสามารถของบริการคลาวด์กลางภาครัฐ ให้ก้าวไปอีกขั้น กระทรวง ดีอี จึงได้กำหนดนโยบาย Cloud First Policy เพื่อตอบสนองแนวโน้มการใช้งานด้านข้อมูลและการพัฒนานวัตกรรมของภาครัฐที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการเชื่อมโยงผู้ให้บริการภาครัฐและภาคเอกชน รองรับการบริการของภาครัฐ ในหน่วยงานรัฐบาลกว่า 450 แห่ง ให้เข้าถึงประชาชนอย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และส่งเสริมการใช้ AI อย่างปลอดภัย ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริการของภาครัฐแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น 


สำหรับนโยบาย Cloud First Policy อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ทำหน้าที่ ติดตาม กำกับดูแล การใช้บริการคลาวด์ให้เป็นตามมาตรฐานสากล ด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การกำหนดราคา และการติดตามตรวจสอบการให้บริการ 


ขณะเดียวกันการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างดิจิทัล ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในภาคธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากการที่ กระทรวง ดีอี  ได้รับความร่วมมือจาก หัวเว่ย ในการลงทุนและพัฒนากำลังคนดิจิทัล โดยเฉพาะด้าน AI และ Cloud ผ่านการจัดตั้งศูนย์เพื่อพัฒนาบุคลากรไทยด้าน AI & Cloud ผลิตคนด้าน AI และ Cloud ปีละ 10,000 คน หรือ 50,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ผู้ที่มีทักษะ AI & Cloud จำนวนกว่า 60,000 ล้านบาท แก้ปัญหาขาดแคลนบุคคลากรด้าน AI และ Cloud 

“นโยบาย Cloud First นอกจากจะช่วยขับเคลื่อน รัฐบาลดิจิทัล ที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยของข้อมูล ในการให้บริการประชาชน มีการบริหารจัดการงบประมาณที่โปร่งใส และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ต่อเนื่องสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคอีกด้วย” นายประเสริฐ กล่าว


ด้าน เดวิด หลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย ในฐานะผู้ร่วมจัดงานในวันนี้ กล่าวว่า หัวเว่ย คลาวด์ มีโซนการให้บริการ (Availability Zone) ในประเทศไทย ทำให้พันธมิตรและลูกค้าสามารถจัดเก็บข้อมูลในประเทศไทย ในขณะที่ยังสามารถลดความหน่วงของเครือข่าย คลาวด์ (Cloud networking latency) ทั่วประเทศเหลือเพียง 12ms

นอกจากนี้หัวเว่ย คลาวด์ ได้ร่วมมือกับกระทรวง ดีอี เพื่อเปิดตัว e-Government Cloud เพิ่มการทำงานร่วมกันทางดิจิทัลและคุณภาพการบริการสาธารณะ อีกทั้งยังร่วมมือในโครงการสมาร์ทซิตี้ (Smart City) แห่งแรกในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ปรับปรุงบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งยังได้พัฒนาเหมือง SCG สีเขียวแห่งแรกและโรงงานอัจฉริยะ Matsumoto เพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืน