16 ส.ค. 2567 269 0

ดีอี - ดีป้า ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เยี่ยมชมผลงานตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร และหารือแนวทางพัฒนา Digital Khon Kaen Sandbox

ดีอี - ดีป้า ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เยี่ยมชมผลงานตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร และหารือแนวทางพัฒนา Digital Khon Kaen Sandbox

ดีป้า ลงพื้นที่ตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร จัดกิจกรรมตลาดต้นแบบต่อยอดสู่ความยั่งยืน เพื่อติดตามความก้าวหน้าการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการตลาด SMEs พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจ ผลักดันผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคอีสานประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตอบโจทย์ธุรกิจ


ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เป็นประธานเปิดกิจกรรมตลาดต้นแบบต่อยอดสู่ความยั่งยืน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร กิจกรรมต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ (ขยายผล) โดยมี นายรัชกฤต ภูชัชวนิชกุล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายบุญฤทธิ์ พาณิชย์รุ่งเรือง รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมในกิจกรรม


ดร.ชินาวุธ กล่าวว่า โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่เป้าหมายให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พัฒนาสู่การแข่งขันรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัลผ่านกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ ยกระดับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค พร้อมกันนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และนำไปต่อยอดธุรกิจได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ และ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ (ขยายผล) ดำเนินการใน 75 ตลาด 25 จังหวัด รวมกว่า 100,000 แผงค้า


“กิจกรรมตลาดต้นแบบต่อยอดสู่ความยั่งยืน ถือเป็นการติดตามและประเมินผลการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการตลาด SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ผ่านบัญชีบริการดิจิทัล และลงพื้นที่สร้างความตระหนักรู้ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว


ทั้งนี้ คณะยังได้ร่วมพูดคุยกับผู้บริหารตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร ซึ่งบริหารงานโดยเทศบาลนครขอนแก่น รวมถึงบรรดาพ่อค้าแม่ค้า และดิจิทัลสตาร์ทอัพ โดยพ่อค้าแม่ค้าตลาดโต้รุ่งร่วมจิตรมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AdaPOS+ ระบบ POS ที่มีระบบขายหน้าร้าน รองรับการรับชำระเงินด้วยเงินสด บัตรเครดิต พร้อมเพย์ หรือรับชำระร่วมกันหลายประเภท มีการให้ส่วนลดแบบรายการหรือลดทั้งบิล พร้อมระบบจัดการคลังสินค้า และยังสามารถทำโปรโมชันสินค้าในร้าน ทั้งนี้ ตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร ถือเป็นตลาดที่มีความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสามารถเป็นตลาดต้นแบบให้กับตลาดอื่น ๆ ได้


ด้าน บุญฤทธิ์ กล่าวว่า เทศบาลนครขอนแก่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร และอีก 5 ตลาดภายใต้การบริหารจัดการของเทศบาล พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับและขับเคลื่อนเมืองขอนแก่นสู่การเป็น Digital City ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มความปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งการทำงานร่วมกับ ดีป้า ในครั้งนี้ถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐที่เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะเกิดการต่อยอดไปสู่ความร่วมมือใหม่ เพื่อสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน พร้อมก้าวสู่ ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ อย่างยั่งยืน

สำหรับกิจกรรมตลาดต้นแบบต่อยอดสู่ความยั่งยืน จะจัดขึ้นอีกครั้งที่ตลาดถนอมมิตร กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 09 4416 1452 และ 0 2026 2333 ต่อ 3402 – 3406 หรือติดตามข่าวสารของกิจกรรมได้ทาง Facebook Page: depa Thailand

ดีอี – ดีป้า - จ.ขอนแก่น และภาคเอกชน หารือแนวทางพัฒนา Digital Khon Kaen Sandbox พื้นที่ส่งเสริมการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาคอีสาน


กระทรวงดีอี และ ดีป้า ร่วมพูดคุยกับบรรดาผู้ประกอบการและดิจิทัลสตาร์ทอัพในพื้นที่ วางแผนหารือจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนเดินหน้าพัฒนา ‘Digital Khon Kaen Sandbox’ พื้นที่ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาคอีสาน อีกทั้งเน้นย้ำให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะ Big Data จากผู้ประกอบการไทย เพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรม ก่อนเยี่ยมชมกิจกรรมอัปสกิลดิจิทัลผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าและให้บริการในพื้นที่ พร้อมแนะผู้ประกอบการชูจุดเด่นภาคอีสานดึงดูดความสนใจผู้บริโภค


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ‘Ignite Isan Digital Hub’ ภายใต้โครงการ DIGINEXT by SEED THAILAND พร้อมร่วมพูดคุยกับบรรดาผู้ประกอบการและดิจิทัลสตาร์ทอัพในพื้นที่เพื่อหารือแนวทาง แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ สะท้อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปใช้ต่อยอดการดำเนินธุรกิจ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยมี พันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ ดร.วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ร่วมในกิจกรรม


“ภาคเอกชนของจังหวัดขอนแก่นถือว่ามีความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพ อีกทั้งมีความพร้อมที่จะพัฒนาจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและโดดเด่นเป็นอย่างมากในพื้นที่ภาคอีสาน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงดีอี และ ดีป้า จึงต้องการเชิญชวนจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ร่วมหารือแนวทางการพัฒนา ‘Digital Khon Kaen Sandbox’ พื้นที่ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาคอีสาน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการนำมาตรการทางภาษีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกดึงดูดการลงทุน นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะ Big Data จากผู้ประกอบการไทย เพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเป็นการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี โดย ดีป้า ยังได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) และ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (สมาร์ทลีฟวิ่ง)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว


พร้อมกันนี้ คณะได้เยี่ยมชมกิจกรรม ‘Digital Content-Driven E-Commerce Workshop: การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มยอดขายด้วยดิจิทัลคอนเทนต์’ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิจกรรมต่อยอดความสำเร็จของโครงการ CONNEXION ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างมีประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าและให้บริการในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการถ่ายภาพสินค้า การสร้าง Storytelling การ Live ขายสินค้า การเปิดร้านค้าใน Social Commerce อย่าง TikTok และ Facebook การใช้ข้อมูลวิเคราะห์ช่องทางขายสินค้าออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์ม eTailligence และการสร้าง Micro Influencer หน้าใหม่ให้กับท้องถิ่น


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วย พันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เยี่ยมชมกิจกรรม Digital Content-Driven E-Commerce Workshop: การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มยอดขายด้วยดิจิทัลคอนเทนต์ ภายใต้โครงการ CONNEXION ส่งเสริมการยกระดับองค์ความรู้และชุดทักษะใหม่ด้านดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนที่จำหน่ายสินค้าและให้บริการในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึง เบลล์ หรือ พิชิตชัย โพธิ์ศิริ และกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์ด้านการตลาดและการเพิ่มยอดขายบน TikTok ร่วมให้ความรู้แบบเจาะลึก



ประเสริฐ กล่าวว่า ภายหลังจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ที่เข้าร่วมกิจกรรมพบว่า สินค้าและบริการของพี่น้องผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคอีสานมีเอกลักษณ์และมีศักยภาพในการเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ แต่ผู้ประกอบการกลับสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในหลากหลายด้าน เช่น ผู้ประกอบการหลายรายยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลเพื่อเพิ่มยอดขายและวางแผนการตลาด ทำให้ไม่สามารถขยายตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

ประเสริฐ กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ กระทรวงดีอี โดย ดีป้า คือการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลในมิติของการยกระดับสู่อาชีพใหม่ เช่น ดิจิทัลอินฟลูเอนเซอร์ และ ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ โดยหนึ่งในมิติของการส่งเสริมคือ การพัฒนาทักษะผู้ประกอบการไทยให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพี่อเพิ่มศักยภาพการสร้างยอดขาย ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ตลอดจนการเรียนรู้การใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยในการวิเคราะห์ทิศทางและกลยุทธ์การตลาดได้อย่างเหมาะสม สอดรับกับแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศของกระทรวง

“จากการหารือร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ สินค้าและบริการของพี่น้องภาคอีสานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้เลย และเป็นจุดแข็งของที่นี่ แต่ในมุมของผู้ประกอบการท้องถิ่นได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลายด้าน ทั้งการเข้าถึงตลาดออนไลน์ที่ยังไม่กว้างขวางเพียงพอและการเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถขยายตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้บริโภค นอกจากนี้ การปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์และระบบดิจิทัลก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่ ผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายรายยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัล เพื่อการเพิ่มยอดขายและการวางแผนทางการตลาด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว



ดังนั้นกิจกรรมในวันนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเองจะต้องนำจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสานมาใช้เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดใจผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง