21 ส.ค. 2567 89 0

BDI เปิด (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับช่วงปี พ.ศ. 2568-2570

BDI เปิด (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับช่วงปี พ.ศ. 2568-2570

BDI เปิด (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับช่วงปี พ.ศ. 2568-2570 มุ่งใช้พลังจากข้อมูล เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมกัน




สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)
หรือ BDI จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) พ.ศ. 2568-2570 เพื่อวางแนวทางการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศไทย สำหรับประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและเชิงธุรกิจ รวมไปถึงยกระดับการดำเนินชีวิตของประชาชนให้เข้ากับยุคดิจิทัล ภายใต้วิสัยทัศน์สำหรับการขับเคลื่อนในช่วงปี พ.ศ. 2568-2570 ที่ว่า “ใช้พลังของข้อมูล กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมกัน (Harnessing the Power of Data for Inclusive Growth and Well-Being)”


รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ Big Data Institute (BDI) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ซึ่งมีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการเชื่อมโยง วิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผ่าน 3 กลุ่มงานหลัก ประกอบด้วย 1. Project B.I.G.: Big Data Integration and Governance ประสานและเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงวิเคราะห์ รวมทั้งให้บริการการวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์ความต้องการของหน่วยรับบริการ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลข้อมูลเป็นสำคัญ 2. Project Bridge พัฒนาผู้ประกอบการโดยสร้างทั้งอุปสงค์และอุปทานของศาสตร์ด้านข้อมูล และ 3. Project Build พัฒนาทักษะด้านข้อมูลและความรู้ เพิ่มกำลังคนด้าน Big Data และ AI ขานรับนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ ที่ผ่านมา BDI ได้สนับสนุนและดำเนินงานในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐกว่า 221 โครงการ ครอบคลุมหน่วยงานกว่า 105 หน่วยงาน ภายใต้ 19 กระทรวง และสามารถสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้กว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านข้อมูลของประเทศ และ BDI จะสามารถร่วมกันขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนอย่างครอบคลุม ตามวิสัยทัศน์ของแผนฯ



ด้าน ดร.รัชดา เจียสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ชานน วุฒิจรรยารักษณ์ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาของ BDI ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) พ.ศ. 2568-2570 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำแผนว่า ภายใต้กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีการวิเคราะห์ทั้งปัจจัยภายใน อาทิ นโยบายและแผนระดับชาติทั้ง 3 ระดับที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระบบนิเวศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านข้อมูล และกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัจจัยภายนอก อาทิ แนวโน้มด้านข้อมูลขนาดใหญ่ ช่องว่างการพัฒนาด้านข้อมูลขนาดใหญ่ การจัดอันดับตัวชี้วัดในระดับสากล ข้อตกลงหรือข้อผูกพันภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ และตัวอย่างแนวทางการพัฒนาด้านข้อมูลที่ประสบความสำเร็จของต่างประเทศ อีกทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการยกร่างแผนฯ โดย (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวประกอบด้วยทั้งสิ้น 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) สร้างและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ (Creating and Utilizing National Big Data Platform) 2) ส่งเสริมการสร้างห่วงโซ่คุณค่าของข้อมูล (Promote Data Value Chain Creation) 3) สร้างขีดความสามารถด้านข้อมูล (Manpower in Big Data) และ 4) พัฒนาและใช้ประโยชน์จาก AI ในการบริการ (AI Development and Utilization)



สำหรับงานประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) พ.ศ. 2568-2570 ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค และเข้าร่วมผ่านระบบการประชุมออนไลน์จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ กว่า 30 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และ สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย โดยความคิดเห็นที่ได้จากงานประชุมดังกล่าว จะถูกนำไปใช้ประกอบการปรับปรุง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดทำแผนระดับ 3 ของประเทศ ซึ่งจะมีลักษณะเป็น Action Plan ที่ปฏิบัติตามและเกิดผลลัพธ์ได้จริงต่อไป