26 ส.ค. 2567 104 0

ดีอี บูม 'ภาครัฐไร้กระดาษ' ขับเคลื่อน รัฐบาลดิจิทัล ด้วย 'Cloud First'

ดีอี บูม 'ภาครัฐไร้กระดาษ' ขับเคลื่อน รัฐบาลดิจิทัล ด้วย 'Cloud First'

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการอบรมการดำเนินงานภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลแบบไร้กระดาษ (Paperless Government) โดยมีผู้บริหารสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น (TK Palace) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ



ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์  กล่าวว่า การขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ และความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวง ดีอี โดยมีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงการทำงานของภาครัฐให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านนโยบาย "Go Cloud First" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการใช้ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการบริหารจัดการข้อมูลและบริการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ 


ทั้งนี้กระทรวง ดีอี ได้ดำเนินการการจัดทำและพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบงานต่าง ๆ ภายใต้งานบริการ คลาวด์กลางภาครัฐ ได้แก่ ระบบ e-Office ที่ถูกพัฒนาเพื่อให้สามารถบูรณาการและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ภายในองค์กรภาครัฐ 


สำหรับระบบ e-Office เป็นการเชื่อมโยงกระบวนงานภายในของหน่วยงานบนแพลตฟอร์มเดียว เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูล และการทำงานร่วมกัน ทำให้สะดวกรวดเร็วและมีความโปร่งใสในการจัดการงานสารบรรณและเอกสารผ่านระบบดิจิทัล โดยมีระบบงานย่อยในการบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร เช่น การจัดการประชุม การจองทรัพยากร และการบริหารครุภัณฑ์ เป็นต้น

“แม้ว่าหลายหน่วยงานจะเริ่มพัฒนาระบบบริการประชาชน ผ่านระบบออนไลน์หรืออิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัจจุบันยังพบว่า ระบบหลังบ้านของหน่วยงานราชการยังคงมีการใช้กระดาษเพื่อการดำเนินการภายในองค์กรอยู่เป็นจำนวนมาก กระทรวง ดีอี จึงได้พัฒนาระบบ ThaiD ที่รับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นระบบยืนยันตัวตนของประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้บุคลากรหน่วยงานรัฐ ใช้ยืนยันตัวตนลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการทำงานของแต่ละหน่วยงาน โดยปัจจุบันพบว่ามีบุคลากรของรัฐ ประมาณ 15-17 ล้านคน ที่มีบัญชี ThaiD ของตนเอง 


วันนี้จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปสู่การระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้กระดาษ เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การทำงาน e-Office อย่างเต็มรูปแบบ” ปลัด กระทรวงดีอี กล่าว

ปัจจุบันกระทรวง ดีอี ได้บูรณาการการทำงานด้วยระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ร่วมกับกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานในสังกัด ล่าสุดคือความร่วมมือของการใช้ระบบ คลาวด์กลางภาครัฐ และ e-Office ในกระบวนยุติธรรม ของศาลอาญา และศาลแพ่ง ที่เรียกว่า “ระบบยื่นคำร้องขอปิดกั้นเว็บไซต์ทางออนไลน์” โดยดำเนินการยื่นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ต่อศาล พร้อมด้วยพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ 100% ซึ่งศาลได้มีการพิจารณาคำร้อง พยานหลักฐาน รวมถึงการไต่สวนคำร้องทางออนไลน์ และมีคำสั่งศาลโดยใช้ Digital Signature ในการลงนาม ทำให้มีความรวดเร็ว สามารถรับคำสั่งศาลได้ภายในวันที่ยื่น 


อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนนโยบาลรัฐบาลดิจิทัล จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนงานเอกสารภายในสำนักงาน ต่อยอดไปสู่การเชื่อมโยงกับระบบบริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ ระบบคลาวด์ ในการจัดเก็บข้อมูลภายใต้มาตรฐานการดูแลรักษาความปลอดภัยที่มั่นคง และเชื่อถือได้ สร้างความเชื่อมั่นการใช้เทคโนโลยีให้กับประชาชน ทำให้เกิดการใช้งานตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัลครอบคลุมทั่วประเทศ มีความเป็นมาตรฐานและประสิทธิภาพตามเป้าหมายของรัฐบาล อันจะหมายถึงการให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และยั่งยืน