27 ส.ค. 2567 143 0

ยิบอินซอยจับมือซีเมนส์ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อม มุ่งส่งเสริมการเกษตรยั่งยืนในไทย

ยิบอินซอยจับมือซีเมนส์ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อม มุ่งส่งเสริมการเกษตรยั่งยืนในไทย

ยิบอินซอยร่วมกับซีเมนส์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อม โดยข้อตกลงรวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อม (Controlled Environment Agriculture หรือ CEA) ของซีเมนส์ให้กับบุคลากรของยิบอินซอย ณ ศูนย์วิจัยพัฒนาและสาธิตผลิตภัณฑ์ของยิบอินซอย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การผสานโซลูชัน CEA แบบครบวงจรจากซีเมนส์ และองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมถึงความเชี่ยวชาญด้าน IT ของยิบอินซอย ช่วยให้ความโปร่งใสของข้อมูลอย่างรอบด้านแบบเรียลไทม์ เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงและพัฒนาคุณภาพของสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง (trusted traceability) อีกทั้งยังช่วยให้การใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เป็นการสนับสนุนการเกษตรยั่งยืนในไทย

หนึ่งในความท้าทายหลักของผู้ประกอบการฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบนบกจากอดีตจนปัจจุบัน คือการคาดการณ์และควบคุมผลผลิตให้ได้ตามต้องการ นอกเหนือจากนั้นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ในหลายปีที่ผ่านมาทำให้ความท้าทายนี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางด้านอัตราการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ อัตราการป่วย ซึ่งทำให้ต้นทุนทางด้านอาหาร พลังงานและทรัพยากรอื่นๆที่ใช้ในการดูแลพุ่งสูงขึ้น

ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจที่ครบถ้วนและทันเวลา ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจจากการคาดเดาทำให้เกิดความผิดพลาด ส่งกระทบต่อภาพรวมของผลผลิต สูญเสียทรัพยากรและเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 


เทคโนโลยีและโซลูชัน CEA ที่ครอบคลุมสำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในความร่วมมือนี้ อาทิ

  • ระบบอัตโนมัติ ที่สามารถการจัดเก็บข้อมูลจากหลายๆระบบในฟาร์มเช่น ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ระบบควบคุมสิ่งแวดล้อม และบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และแสดงผลแบบบูรณาการ
  • เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้อาหารอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์พฤติกรรม ตรวจสอบและวิเคราะห์ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ฯลฯ
  • ระบบการจัดการและตรวจสอบคุณภาพน้ำและการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีความเสถียร เหมาะกับสภาวะการเพาะเลี้ยงที่ต้องการและใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น รวมถึงการนำน้ำที่ใช้แล้วมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์อื่นๆ เพื่อความยั่งยืนและประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ข้อมูลแบบรวมศูนย์จากระบบต่างๆข้างต้นทำให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมแบบเรียลไทม์ อีกทั้งระบบยังสามารถแจ้งเตือนได้ทันทีเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เหล่านี้ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและตอบสนองต่อความผันผวนในสภาพแวดล้อมของฟาร์มได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ฟาร์มสามารถลดการสูญเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็น และเพิ่มอัตรารอดหรือผลผลิตในที่สุด

นอกจากนี้เทคโนโลยี CEA ซึ่งควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ยังสามารถนำไปใช้เพิ่มผลผลิตเช่นการจัดตั้งฟาร์มในสถานที่ที่ทำการเพาะเลี้ยงไม่ได้มาก่อน เป็นการเพิ่มความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

โดยในบันทึกข้อตกลงนี้ ซีเมนส์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยี CEA โดยได้มีโครงการที่ประสบความสำเร็จทั้งในภูมิภาคและระดับโลกจะทำการถ่ายความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี CEA ของซีเมนส์ให้กับบุคลากรของยิบอินซอย ทั้งจากการปฎิบัติงานจริงและการฝึกอบรม

มรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด กล่าวว่า “เราต้องการที่จะผลักดันให้เกษตรกรในทุกภาคส่วนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่เรามีเข้าไปช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ที่มีมากมาย จุดประสงค์หลักคือต้องการให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน โดยการใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ที่เรามีทางด้าน ITครบวงจรมาทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพันธุ์ต่างๆ ที่ศูนย์วิจัยพัฒนาและสาธิตผลิตภัณฑ์ของยิบอินซอย ซึ่งการร่วมมือกันกับซีเมนส์ในครั้งนี้จะทำให้เกิดการผลิกโฉมการทำเกษตรให้มั่นคงและยั่งยืนอย่างแน่นอน 

รอส คอนลอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด  กล่าวว่า  “ซีเมนส์มีความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยีในการผลักดันความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โซลูชัน CEA จากซีเมนส์ผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีล่าสุด เช่น AI, edge computing, blockchain, machine learning ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ เมื่อเทียบกับการเพาะเลี้ยงแบบดั้งเดิม  การร่วมมือกับยิบอินซอยในครั้งนี้จะช่วยปูทางและส่งเสริมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนในประเทศไทย อีกทั้งเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศในอนาคตต่อไป”