29 ส.ค. 2567 1,954 29

ดีอี หนุนพัฒนา AI ไทย หวังดันเศรษฐกิจ สังคมดิจิทัลเข้มแข็ง รองรับการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลภูมิภาค

ดีอี หนุนพัฒนา AI ไทย หวังดันเศรษฐกิจ สังคมดิจิทัลเข้มแข็ง รองรับการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลภูมิภาค

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดงาน “TB-CERT Cybersecurity Annual Conference 2024” Theme: Tomorrow’s Cybersecurity in the age of AI โดยมี เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวง ดีอี ชมภารี ชมภูรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ซึ่งจัดโดย ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ณ โรงแรม Inter Continental Bangkok Hotel กรุงเทพฯ

ประเสริฐ เปิดเผยว่า กระทรวง ดีอี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งปัจจุบันพบว่าเทคโนโลยี AI มีการพัฒนาและเติบโตไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา Generative AI หรือการพัฒนายี AI เชิงสร้างสรรค์ และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้การทำงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันสะดวกขึ้น


ขณะที่สถานการณ์ด้าน AI ของประเทศในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจและสังคมไทยมีความตื่นตัวต่อเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนา AI ของประเทศอย่างเป็นระบบ แทนที่การใช้ระบบจากต่างประเทศ โดยกระทรวง ดีอี เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้มีการเสนอให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) โดยเพิ่มคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีหน้าที่ ศึกษา ทบทวนกฎหมายรองรับการขับเคลื่อนและการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของประเทศ จัดทำแนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Governance Guideline) ให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สู่การนําไปปฏิบัติต่อไป เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม

เรื่องดังกล่าว จะเป็นการรองรับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค โดยขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นด้าน Data Center ด้าน Cloud First หรือด้าน Semi-Conductor และได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคธุรกิจ


กระทรวง ดีอี ยังเน้นให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้าน AI  พร้อมกับการเสนอมาตรการจูงใจไม่ว่าจะเป็น Digital scholarship fund และมาตรการลดหย่อนภาษี หรือการดึงกำลังพลมีความรู้ความสามารถเข้ามา ในการสร้างคนในประเทศผ่านกลไกที่สำคัญคือ  Global Digital Talent Visa ที่จะดึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ไม่เกิน 600 อันดับแรก เข้ามาทำงานและใช้ชีวิต เติมเต็มแรงงานภายในประเทศ เพื่อที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาของ AI อย่างมีประสิทธิภาพ 

ขณะเดียวกัน กระทรวงได้ส่งเสริม AI provider และ AI startup ซึ่งผู้พัฒนา AI ภายในประเทศ ผ่านการสนับสนุนของ สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจในประเทศ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีพื้นฐานด้านข้อมูลธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ Big data ผนวกรวมกับ เทคโนโลยี AI  ในการขับเคลื่อนและพัฒนาแผนธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงทางการแข่งขัน


นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่หรือ Thai Large Language Model เป็นการต่อยอดพัฒนาการใช้งานแอปพลิเคชัน ในมิติต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว และเรื่องอื่นๆ รวมถึงการส่งเสริมให้ SME ธุรกิจต่างๆ มีการพัฒนาทักษะ มีการเรียนรู้การใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมสร้างความตระหนักรู้และการพัฒนาทักษะ AI ให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา AI เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยนั้น จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย และจริยธรรมที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้และสร้างความเชื่อมั่นด้านการใช้เทคโนโลยี AI ให้กับคนไทย ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต