29 ส.ค. 2567 125 0

ดีอี จับมือ Meta หนุนผู้ประกอบการใช้ AI เพิ่มขีดความทางการแข่งขัน ปั้น Soft Power ดันไทยสู่ Digital Economy Hub

ดีอี จับมือ Meta หนุนผู้ประกอบการใช้ AI เพิ่มขีดความทางการแข่งขัน ปั้น Soft Power ดันไทยสู่ Digital Economy Hub

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดงาน Meta Marketing Summit โดยมี วัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ผู้บริหาร Facebook ประเทศไทย Meta Platform Inc การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ Siam Kempinski Bangkok 


ประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวง ดีอี พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆของไทย ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับธุรกิจ เพื่อก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง ผ่านแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ตามนโยบายการขับเคลื่อนง “The New Growth Engine of Thailand” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ กลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ Soft Power ด้านต่างๆของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Digital Economy Hub ที่มีความมั่นคงและยั่งยืน 



ทั้งนี้การขับเคลื่อนดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ Meta ได้ร่วมทำงานกับหน่วยงานของภาครัฐ ทั้งด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับ ททท. และการส่งเสริมองค์ความรู้ข้อมูลเชิงลึกให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว สามารถปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบ รวมทั้งการนำ AI เข้ามาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เป็นการเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าถึงตลาดทั่วโลก 


กระทรวง ดีอี เชื่อว่าการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลที่เหมาะสม ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังเป็นการสร้างความปลอดภัยในสังคมดิจิทัลที่ปัจจุบันอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน วางแผนสร้างนโยบายและมาตรการที่ครอบคลุมและยืดหยุ่น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการช่วยเหลือทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ (DEPA) การพัฒนากฎหมายที่สร้างความปลอดภัยในสังคมดิจิทัลและเป็นมิตรต่ออุตสาหกรรม และการพัฒนากำลังคนให้ความรู้และทักษะ AI ที่จำเป็นต่อการต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล


ขณะเดียวกัน กระทรวง ดีอี ยังได้เสนอให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) โดยเพิ่มคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีหน้าที่ ศึกษา ทบทวนกฎหมายรองรับการขับเคลื่อนและการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของประเทศ จัดทำแนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Governance Guideline) ให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สู่การนําไปปฏิบัติต่อไป เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการนำเทคโนโลยีไปใช้แบบไม่ถูกต้อง สนับสนุน Responsible AI และการพัฒนาทักษะ AI ของประชาชนในทุกระดับ ผ่านการอบรมทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ร่วมกับภาคเอกชน ให้มีความพร้อมสำหรับความต้องการของตลาด


“หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล คือ การส่งเสริม Soft Power ผลักดันให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยใช้ต้นทุนและทรัพยากรความหลากหลายทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว อาหารไทย แฟชั่น ศิลปะและดนตรี ที่มีศักยภาพในการดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก และสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาและเผยแพร่ Soft Power ในแพลตฟอร์มดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้ประกอบการในการนำเสนอ Soft Power ของไทยให้เป็นที่รู้จัก อย่างกว้างขวาง โดยกระทรวง ดีอี พร้อมสนับสนุนการนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ข้อมูล และพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละตลาดเพื่อปรับเนื้อหาและการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์ ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยและดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก” ประเสริฐ กล่าว


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะทำให้แผนการพัฒนาและสนับสนุน AI เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต และการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการใช้ AI เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็น Digital Economy Hub ของภูมิภาคอย่างมั่นคงและยั่งยืน