ดีป้า เผยแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2568 ในงาน ‘depa Digital Intelligence’ ภายใต้แนวคิด Perform Better, Think Faster and Live Better ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2568 ในงาน ‘depa Digital Intelligence’ ภายใต้แนวคิด Perform Better, Think Faster and Live Better ณ อาคาร ดีป้า (สำนักใหญ่แห่งใหม่) ซอยลาดพร้าว 10 เขตจตุจักร โดยมีคณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงสื่อมวลชนร่วมรับฟังการแถลงในครั้งนี้โดยพร้อมเพรียง
ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า ปี 2568 ดีป้า จะยังคงดำเนินงานภายใต้แนวคิด Perform Better, Think Faster and Live Better หรือการส่งเสริมให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น โดย ดีป้า จะให้ความสำคัญกับการยกระดับกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลของประเทศ โดยสานต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 อย่าง ‘โค้ดดิ้ง’ แก่ประชาชนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย มุ่งสร้างกำลังคนดิจิทัลในกลุ่มนิสิตและนักศึกษา รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 2 ปีในสาขา IT และ Non IT ที่ต้องการเข้ามาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความพร้อมโดยการส่งเสริมทักษะที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพสากลก่อนป้อนเข้าสู่ระบบ ภายใต้โครงการรัฐร่วมเอกชนส่งเสริมทักษะใหม่ที่ดำเนินการผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการให้ทุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
นอกจากนี้ ดีป้า จะขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ พร้อมส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์สั้น หนังใบ้ที่สร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการดำเนินโครงการสำคัญอย่าง depa ESPORTS กลไกการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม ESPORTS ของไทย รวมถึงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ทั้งการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยในทุกระยะการเติบโต การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกลไกบัญชีบริการดิจิทัล (Thailand Digital Catalog) มาตรฐาน dSURE โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ตลอดจนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย แผนส่งเสริมเทคโนโลยี Blockchain และ Quantum Computing รวมถึงโครงการเรือธงอย่าง 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD) (ชุมชนโดรนใจ) 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (สมาร์ทลีฟวิ่ง) และ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ทุเรียนดิจิทัล)
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวถึงการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาว่า ดีป้า ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ รวมกว่า 1,560 โครงการ ผ่าน 13 มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนของสำนักงานฯ รวมวงเงินอนุมัติกว่า 1,930 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 24,300 ล้านบาท โดย ดีป้า ดำเนินงานตามแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลทุกมิติทั้งการยกระดับกำลังคนและบุคลากรดิจิทัล การเปลี่ยนเศรษฐกิจดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การสร้างโอกาสใหม่และกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
สำหรับแนวทางการยกระดับกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลของ ดีป้า แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะยาวกับโครงการ Coding Thailand ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโค้ดดิ้ง และล่าสุดกับโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ระยะกลางกับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการให้ทุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ระยะสั้นกับโครงการ CONNEXION ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพการใช้ดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแก่บรรดาผู้ประกอบการผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อต่าง ๆ เช่น การสร้าง Storytelling การ Live ขายสินค้า การเปิดร้านค้าใน Social Commerce การใช้ข้อมูลวิเคราะห์ช่องทางขายสินค้าออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์ม eTailligence ฯลฯ
การเปลี่ยนเศรษฐกิจดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยการยกระดับ Formal Sector เพื่อ Transform Informal Sector ผ่านการมุ่งพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ การส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพ การเปลี่ยนอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์แบบดั้งเดิมสู่ฮาร์ดแวร์ที่มีซอฟต์แวร์ฝังตัว รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ นอกจากนี้ยังได้จัดทำบัญชีบริการดิจิทัลที่รวมสินค้าและบริการจากดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดมาตรฐาน dSURE โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลแล้วกว่า 400 รายการ สำหรับการสร้างโอกาสใหม่และกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียม ดีป้า ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมผ่านบัญชีบริการดิจิทัล เมืองสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชนได้ตรงจุด
สุดท้ายคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการ Thailand Digital Valley ศูนย์กลางการออกแบบ พัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลองเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ล่าสุดกับอาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Center อาคารแห่งที่สองของโครงการฯ ที่เปิดให้บริการแล้วและได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ CENTERPOINT พื้นที่เรียนรู้ด้านดิจิทัล ขนาดพื้นที่ 150 ตารางเมตรบนชั้น 3 ของอาคาร ขณะที่อาคาร Digital Innovation Center, Digital Edutainment Complex และ Digital Go Global Center คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2568
“ดีป้า มุ่งผลักดันให้คนไทย Perform Better, Think Faster and Live Better หรือส่งเสริมให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างถูกต้องและชาญฉลาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ทั้งนี้ ดีป้า พร้อมทำงานเพื่ออนาคตของคนไทยและเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลก ตามวิสัยทัศน์ “We work smart every day to build a world-class digital economy and to help people perform better, think faster and live better.” ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารต่าง ๆ ผ่านทุกช่องทางการสื่อสารของ ดีป้า ไม่ว่าจะเป็น www.depa.or.th, LINE OA: depaThailand และ Facebook Page: depa Thailand