สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ชูแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Envi Link) ต้อนรับวันโอโซนโลก เปิดพื้นที่นำร่องใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาจังหวัดภูเก็ตสู่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ พร้อมตั้งเป้าลดคาร์บอน 30% ภายใน 1 ปี ก่อนมีแผนขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น BDI จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (Envi Link) ขึ้น เพื่อช่วยประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ อันส่งผลต่อภาวะการลดลงของโอโซนในชั้นบรรยากาศ การที่สามารถบ่งชี้กิจกรรมต้นทางที่เป็นตัวการหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะช่วยให้สามารถวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการลดลงของปริมาณโอโซนอย่างยั่งยืน
รศ. ดร.ธีรณี กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการดังกล่าว BDI ได้ดำเนินการบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ต้นปี 2567 โดยตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน 30% ภายในระยะเวลา 1 ปี ผ่านการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Big Data และ AI ให้เกิดการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่ ประสานและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประกอบด้วย ปริมาณการใช้น้ำ การใช้ไฟฟ้า คุณภาพของน้ำ คุณภาพอากาศ และปริมาณขยะ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ประกอบการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดขึ้นในย่านเมืองเก่า และนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ประมาณการความหนาแน่นจำนวนคนและการใช้ยานพาหนะ ผ่านกล้อง CCTV บริเวณถนนคนเดินภูเก็ต หลาดใหญ่ เพื่อประมาณการจำนวนรถยนต์ และการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ในพื้นที่ย่านเมืองเก่า พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจก เพื่อประเมินปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คนในพื้นที่ และนำเสนอผลผ่านรูปแบบแดชบอร์ด เพื่อรายงานสถานการณ์สภาพแวดล้อม โดยรายงานความคืบหน้าของข้อมูลเป็นประจำทุกเดือน จึงเกิดเป็น “โครงการความเป็นกลางทางคาร์บอน เมืองเก่าภูเก็ต (Carbon Neutrality Phuket Old Town)” โดยผนึกกำลังร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน และชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 กรมควบคุมมลพิษ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon Tourism หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำในการส่งเสริมพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่จะช่วยลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนให้ได้มากที่สุด
"โครงการความเป็นกลางทางคาร์บอน เมืองเก่าภูเก็ต เป็นเพียงหนึ่งในโครงการ Envi Link โดย BDI ซึ่งปัจจุบันสามารถแสดงผลการเฝ้าติดตามค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ และนำเสนอข้อมูลนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมถึงผู้บริหารเมืองภูเก็ต เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นจังหวัดต้นแบบ พร้อมขยายผลสร้างมิติใหม่ในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ผู้อำนวยการ BDI กล่าว
นอกจากการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกแล้ว แพลตฟอร์ม Envi Link ยังได้สนับสนุนข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการ PM 2.5 ให้เป็นระบบ การนำเสนอข้อมูลสถานการณ์น้ำจากข้อมูลสถานีโทรมาตรในรูปแบบแดชบอร์ดเพื่อร่วมติดตามปัญหาอุทกภัย ข้อมูลต่าง ๆ ถูกรวบรวมและเผยแพร่แล้วในรูปแบบระบบบัญชีข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.envilink.go.th ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลแล้วกว่า 80 ชุดข้อมูล จากกว่า 30 หน่วยงานพันธมิตร
สามารถติดตามอัปเดตข้อมูลและกิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ได้ทางเว็บไซต์ https://bdi.or.th/ และ Facebook: BDI - Big Data Institute