องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development หรือ TBCSD) ในฐานะเครือข่ายธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรภาคธุรกิจไทยและรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนอันครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จำนวน 45 องค์กร ได้ร่วมส่งเสริมองค์กรภาคธุรกิจและเครือข่ายในการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญของประเทศ อันเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตอบสนองนโยบายของประเทศไทย อันเป็นการสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ได้จัดงาน “TBCSD Towards a Sustainable Future มุ่งสร้างแรงขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน” โดยมี ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธาน TBCSD เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยองค์กรสมาชิกที่ร่วมประกาศความพร้อมในการยกระดับมาตรฐานองค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธาน TBCSD ได้กล่าวถึงกว่า 3 ทศวรรษบนเส้นทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ TBCSD ได้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการส่งเสริมเครือข่ายองค์กรภาคธุรกิจไทยให้ก้าวพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TBCSD ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ พร้อมทั้ง การยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
ในเวที “CEO Forum : Leading Sustainable Business” คณะกรรมการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์การยกระดับมาตรฐานองค์กรภาคธุรกิจไทยสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน นำโดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้ร่วมมือกับองค์กรภาคีทุกภาคส่วน ในการกำหนดเป้าหมาย มาตรการและกรอบกิจกรรมที่ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการร่วมกัน อันเป็นการแสดงออกถึงพลังจากการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืนที่เชื่อมต่อเป้าหมายของประเทศและระดับนานาชาติ” พิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัจจุบันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เป็นเรื่องสำคัญมากต่อการทำธุรกิจ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ได้แก่ ความรู้ เทคโนโลยี และการเงิน ซึ่งธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มการเงินและธนาคารถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในสังคมได้ ธนาคารจึงมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงานของธนาคาร รวมถึง พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดจากการปล่อยกู้หรือลงทุนของธนาคาร ผ่านการตั้งเป้าหมาย Sustainable Financing and investment มูลค่า 2 แสนล้านภายในปี 2030 นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนเรื่อง Climate Solution และการสร้าง Green Ecosystem” กฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธุรกิจกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์นั้นมีความท้าทายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว ได้แก่ นโยบายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจเชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ชีวภาพ การผลิตและการจัดหาน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนถือเป็นความท้าทายหลักในการมุ่งไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ดังนั้น ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญก็คือความร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Green Process ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในทุกขั้นตอน คือ สิ่งที่ออริจิ้นยึดถือและมุ่งมั่นเพื่อให้ไปให้ถึงเป้าหมายด้าน Net Zero Carbon Target ตั้งแต่ Green people, Green Partners, Green Procurement และ Green Construction โดย ออริจิ้นมุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Business) ภายใต้หลักบรรษัทภิบาล เพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว” มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ โดยปัจจุบันได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้ง เทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่ง ปตท.สผ. กำลังศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกในประเทศไทยที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ในอ่าวไทย เพื่อช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” และ ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แพลตฟอร์ม CarbonWatch เป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นรายแรกของประเทศไทย จึงถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของเราที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียม มาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ หลังจากที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ได้รับการรับรองแล้ว จะนำไปใช้งานอย่างจริงจังในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมทั้งเดินหน้าผนึกกำลังกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป”
นอกจากนี้ TBCSD ได้มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานขององค์กรไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนที่มีความเชื่อมโยงสอดคล้องต่อเป้าหมายระดับประเทศในการมุ่งไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และ Net Zero GHG Emission ผ่านเวที “Move forward Challenges and Directions for Net Zero” จากองค์กรสมาชิก TBCSD อันครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง วุฒิ วิพันธ์พงษ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) และ ณัฐวุฒิ อินทรส ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจการเงิน เสถียร เลี้ยววาริณ Chief Sustainability Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จํากัด (มหาชน) กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อภิชาติ กิจเจริญวิศาล Executive Vice President บริษัท เอจีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน) และ ดร.ณัฐกร ไกรกุล Vice President หน่วยงาน Decarbonization Center of Excellence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (พลังงานเชื้อเพลิง) ปัณวรรธน์ นิลกิจศรานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายวิศวกรรมโครงสร้าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ประนาช โกศายานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์ แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) วรรณวิสาข์ สู่ศุภอรรถ ผู้จัดการฝ่ายบริหารความยั่งยืน และคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เยาวลักษณ์ ชูโชติ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ดร.อังศุธร มหิทธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มพลังงานไฟฟ้า พินทุ์สุดา เปี่ยมปิติ Vice President - Corporate Affairs บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และ กิตติศักดิ์ วรรณแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และ สมิชฌน์ เพ็ชร์ดี ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด และ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม วิเวกอนันต์ ซิสท์ลา ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพภาคพื้นอาเซียน กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย
ด้วยความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งขององค์กรสมาชิก และการทำงานร่วมกันกับองค์กรพันธมิตร และเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ TBCSD จึงเป็นผู้นำในการยกระดับให้มีการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนในวงกว้างและสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง