สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) - สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงความพร้อมการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพผ่านระบบ Health Link ในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ คืบหน้าไปแล้ว 94% เร่งเดินหน้าให้ครบ 100% ภายในวันที่ 27 กันยายน 2567 ซึ่งจะมีการเปิดตัวให้บริการประชาชนเข้าถึงการรักษาแบบไร้รอยต่อโดยได้รับเกียรติจาก แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิด
รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) กล่าวว่า ตามที่ BDI ได้ร่วมมือกับ กทม. และ สปสช. ในการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยนวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ผ่านโครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Link) ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จมากกว่า 1,500 แห่งทั่วกรุง โดยครอบคลุมทั้ง โรงพยาบาลศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยาคุณภาพ คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกเวชกรรม ซึ่งช่องทางในการเปิดดูประวัติการรักษาได้ทั้งจากระบบ HIS ของหน่วยบริการและผ่าน HIE Web portal (https://hie.healthlink.go.th/) ของ Health Link ซึ่งมีความพร้อมในการรองรับการให้บริการประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
รศ. ดร.ธีรณี กล่าวต่อว่า การเชื่อมโยงข้อมูลในครั้งนี้ BDI ได้ทำงานร่วมกับสภาวิชาชีพต่าง ๆ ในการกำหนด ตรวจสอบ ยืนยันตัวตนผู้ให้บริการ และการกำหนดข้อมูลที่สามารถเปิดดูประวัติการรักษาให้สอดคล้องกับการให้บริการและมาตรฐานวิชาชีพ และเพื่อให้การบริการครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม BDI ยังร่วมกับแอปพลิเคชันเป๋าตัง และหมอ กทม. ในการส่งข้อมูลสุขภาพคืนให้กับประชาชน ซึ่งสำหรับหน่วยบริการที่อาจจะยังไม่ได้เชื่อมข้อมูลผ่านระบบ Health Link ผู้ให้บริการก็ยังสามารถเปิดดูประวัติการรักษาของผู้ป่วยผ่าน PHR (Personal Health Record – ระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล) ได้ นอกจากนี้ BDI ยังร่วมกับ สปสช. ในการพัฒนาระบบ AI เพื่อช่วยตรวจสอบความผิดปกติของการเบิกจ่าย รวมทั้งเชื่อมข้อมูลจากระบบ Health Link เข้ากับระบบตรวจสอบของ สปสช. เพื่อเพิ่มความเร็วในการตรวจสอบ ส่งผลให้หน่วยบริการสามารถเบิกจ่าย (Claim) ได้เร็วขึ้น พร้อมเตรียมการเพื่อขยายการเชื่อมข้อมูลสุขภาพให้รองรับการส่งต่อผู้ป่วย (Refer) ซึ่งหน่วยบริการสามารถส่งต่อการรักษาและประวัติการรักษาได้อย่างสะดวกมากขึ้น ขณะนี้ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลในพื้นที่ กทม. มีความพร้อมรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จะมีการเปิดตัวในวันที่ 27 กันยายนนี้
นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเพื่อรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น กทม. พยายามที่จะทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของประชาชนอยู่ที่ตัวประชาชนจริง ๆ ไม่ว่าประชาชนจะไปรักษาพยาบาลที่ใด ทั้งโรงพยาบาลหรือระดับปฐมภูมิ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเอกชน รวมถึงร้านยา หน่วยบริการจะสามารถเห็นข้อมูลประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากประชาชน ซึ่งขณะนี้ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนของหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเพทฯ ประกอบด้วย โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ได้เชื่อมโยงระบบข้อมูลครบทุกแห่งแล้ว และได้อัปเดตพร้อมนำเข้ารายชื่อแพทย์ในระบบ Health Link แล้ว โดยแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาที่ต้องการดูประวัติคนไข้ในระบบ Health Link สามารถเรียกดูประวัติผ่านระบบ HCIS และระบบ e-PHIC ได้โดยอัตโนมัติ รวมทั้งได้ทดสอบการแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการ (ปิดสิทธิ) ด้วย Smart card และการส่งเบิกค่าบริการ 13 แฟ้ม เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นส่วนที่สนับสนุนการให้บริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ยกระดับสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ
ประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หัวใจหลักสำคัญอย่างหนึ่งของ 30 บาทรักษาทุกที่ คือ การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการ โดยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่เข้ารับบริการ ระหว่างหน่วยบริการ สปสช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลและเข้าถึงฐานข้อมูลตามสิทธิได้โดยสะดวก โดยมีการจัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรฐานและกฎหมายอย่างครบถ้วนและปลอดภัย สำหรับการดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง สปสช. กับหน่วยบริการ เช่น เชื่อมข้อมูลหน่วยบริการ ที่อัพโหลดไว้บน Cloud ทุกแหล่ง cloud หมอพร้อม, กลาโหม, UHOSNET และสุดท้าย คือ การเชื่อมข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและคลินิกนวัตกรรมผ่านระบบ Health Link โดย BDI เช่น คลินิกเทคนิคการแพทย์, คลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น ทั้งนี้ สปสช. มีเป้าหมายในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. ทั้งหมด 1,619 แห่ง ซึ่งดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสำเร็จแล้ว 94 % หรือจำนวน 1,535 แห่ง และอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูลอีก 84 แห่ง ซึ่งจะเรียบร้อยภายในวันที่ 27 กันยายนนี้
ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้มีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากแพลตฟอร์มกลุ่มงาน AMED Care ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านในการให้บริการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่เข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แพลตฟอร์มกลุ่มงาน AMED Care ที่ให้บริการมี 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ เชื่อมร้านยาดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 32 อาการ ระบบบริการดูแลต่อเนื่องผู้ป่วยในที่บ้าน ระบบบริการคลินิกพยาบาลสำหรับตรวจรักษาโรคเบื้องต้น ระบบบริการคลินิกเวชกรรมสำหรับรักษาโรคทั่วไป และระบบบริการคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญในการให้บริการการรักษาแก่ประชาชนในทุกที่ เพราะความเจ็บป่วยไม่อาจรอสถานที่และเวลาได้ สวทช. จึงมีความยินดีที่การพัฒนาแพลตฟอร์ม AMED Care สามารถสร้างประโยชน์การบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนและสามารถต่อยอดผลการดำเนินงานไปสู่ระบบฐานข้อมูลสุขภาพที่จะขยายการบริการไปได้อย่างกว้างขวาง รองรับการให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่