ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นประธานในพิธีและร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในการยกระดับผลการจัดอันดับของประเทศไทย ที่จัดโดยสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยมี เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี ร่วมด้วยผู้บริหารกระทรวงดีอี และผู้บริหารสกศ.เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ณ ห้องประชุม MDEs1 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ เปิดเผยว่า การร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประสานความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงดีอี และสกศ. รวมถึงขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เป็นการยกระดับผลการจัดอันดับของประเทศไทย ที่จัดโดยสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) โดยทั้ง 2 หน่วยงาน จะสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ การศึกษาวิจัย การพัฒนาข้อมูลด้านการศึกษาที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และทรัพยากรต่าง ๆ การนำผลงานจากการวิจัยและพัฒนาภายใต้ MOU ไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานด้านพัฒนาข้อมูล รวมทั้งการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรของประเทศ เพื่อรองรับการยกระดับผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ และในภาพรวม
ทั้งนี้การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในปี 2566 หรือ Thailand Digital Competitiveness Ranking 2023 ตาม IMD World Digital Competitiveness Ranking 2023 ประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้น 5 อันดับ โดยอยู่ในอันดับที่ 35 จากเดิมอันดับที่ 40 ในปี 2565 โดยได้มีการตั้งเป้าหมายอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย จะต้องอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกภายในปี 2569 นี้
“เราเชื่อว่าการพัฒนาคน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ที่จะต้องเน้นเรื่องของโครงสร้าง ได้แก่ 1) องค์ความรู้ (Knowledge) เช่น ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี 2) ด้านเทคโนโลยี (Technology) เช่น การพัฒนาและการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ ธุรกิจ 3) ด้านการเตรียมความพร้อมในอนาคต เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมด้านดิจิทัลที่เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจ การก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล (e-Government) การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งการจะก้าวไปสู่การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ จำเป็นที่จะต้องอาศัยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่ไปกับการพัฒนาประชากรของประเทศด้วยระบบการศึกษา” ปลัดกระทรวงดีอี กล่าว