26 ก.ย. 2567 2,493 13

ทรู ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห่วงใยคนไทย เร่งมาตรการป้องกัน 'ยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า'

ทรู ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห่วงใยคนไทย เร่งมาตรการป้องกัน 'ยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า'

ตัดวงจรแก็งค์คอลเซ็นเตอร์  หยุด! อาชญากรรมทางเทคโนโลยี



ทรู คอร์ปอเรชั่น ผนึกกำลัง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย  ร่วมกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ใน “ยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” โดยระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  และการกระทำผิดเกี่ยวกับซิมผี บัญชีม้า  โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ห่วงใยและพร้อมปกป้องคนไทยจากปัญหาเหล่านี้ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อช่วยลดความเดือนร้อนของประชาชน  อาทิ ปิดเสาสัญญาณทั้งหมดตามแนวชายแดนไทย-ลาว และ กัมพูชา  นำเทคโนโลยี AI และ Data Analytic ประมวลข้อมูลการลงทะเบียนซิมที่มีความเสี่ยงจะนำไปใช้ในทางที่  ไม่ถูกต้อง รวมถึงมาตรการที่เข้มงวดให้คู่ค้าต้องลงทะเบียนซิมทันทีทุกการขาย เป็นต้น


จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์  หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า  ทรูตระหนักถึงความสำคัญของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  ที่มาจากทั้งแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ หรือเว็บไซต์พนันออนไลน์ นำมาซึ่งการถูกหลอกลวงของผู้คนมากมาย สร้างความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและบางรายอาจถึงชีวิต เราพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยปกป้องคนไทยจากมิจฉาชีพออนไลน์ โดยเฉพาะ “ยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” นี้  ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ได้ระดมกวาดล้างและปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพทางเทคโนโลยีที่หลอกลวงประชาชนในทุกมิติ  ทั้งตัดเส้นทางการเงิน  ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวง และเว็บพนันออนไลน์  อันนำไปสู่การกระทำผิดกฏหมายของเหล่ามิจฉาชีพ  ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย  ระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ


นอกจากนี้ ทรู ยังมุ่งดำเนินการอย่างจริงจัง  ทั้งการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านทรูมันนี่  ระบบจะตรวจสอบและยืนยันตัวตนก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าในการใช้งาน  รวมถึงได้ยกระดับแนวทางและมาตรการต่างๆ ดังนี้

1. ปิดเสาสัญญาณทั้งหมดตามแนวชายแดนไทย-ลาว และ กัมพูชา เพื่อป้องกันมิให้มีการนำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการก่ออาชญากรรม ซึ่งเป็นการปฎิบัติตามแนวทางกสทช.  

2. นำ AI และ Data Analytic ประมวลข้อมูลการลงทะเบียนซิมที่มีความเสี่ยงจะนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อคัดกรองและหยุดกระจายซิมที่มีความเสี่ยงทันที  ส่งผลให้จะลดจำนวนซิมที่อาจถูกนำไปใช้ในทางผิดกฎหมายได้ถึง 500,000 ซิมต่อปี    

3. เข้มงวดให้คู่ค้าต้องลงทะเบียนซิมทันที ทุกการขาย เพื่อป้องกันการแอบอ้างชื่อนำซิมไปใช้งานในทางที่ผิดและเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าทั้งทรูและดีแทค  

4. วางมาตรการเข้มงวดรัดกุมเพื่อให้คู่ค้าปฎิบัติตาม  หากคู่ค้าไม่ปฎิบัติตามข้อกำหนด จะเริ่มจากตักเตือน ลดค่าตอบแทนการขาย และยกเลิกการเป็นคู่ค้าในที่สุด

5. สนับสนุนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   ชี้เบาะแสเพื่อปิดตู้ซิมที่ช่วยเหลือคนร้ายในการลงทะเบียนซิมอันนำไปสู่การกระทำผิดกฏหมายของเหล่ามิจฉาชีพ  

6. ติดต่อแจ้งเบาะแสตำรวจทันทีกับที่พบว่า กลุ่มบุคคลที่อาจเป็นมิฉฉาชีพเข้ามาขอซื้อซิมกับร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ดำเนินการต่อได้ทันท่วงที

7. หากพบพื้นที่หรือสถานที่ใด มีหมายเลขที่มีการโทรผิดปกติจากหมายเลขเดียว เช่น  ในคอนโด ที่อาจเป็น Sim Box จะรีบแจ้งเบาะแสตำรวจ      

8. หากตรวจสอบหรือได้รับแจ้งหมายเลขต้องสงสัยทั้ง ทรูมูฟ เอช และ ดีแทค  ที่มีการใช้งานโทรออกมากผิดปกติ  จะส่ง SMS ไปยังหมายเลขดังกล่าวพร้อมระงับการใช้เบอร์ต้องสงสัยทันที เพื่อให้ติดต่อกลับยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้ใช้งานจริงและดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบในการใช้บริการ     

9. ออกเบอร์โทรพิเศษ “โทร 9777” ให้โทรแจ้งเบอร์สงสัยเป็นมิจฉาชีพ หรือ SMS หลอกลวงเพื่อประสานงานตรวจสอบกับกสทช. และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

10. หากยืนยันเป็นเบอร์ที่สงสัยเป็นมิจฉาชีพ จะส่งข้อมูลให้แอปพลิเคชันระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก Whoscall ช่วยเพิ่มในระบบแจ้งเตือน