5 ต.ค. 2567 1,188 4

ดีอี เตือน อย่าเชื่อ-แชร์ ข่าวปลอม 'เงินเดือนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มต้นเดือนตุลาคมนี้' หวั่นสร้างความสับสน

ดีอี เตือน อย่าเชื่อ-แชร์ ข่าวปลอม 'เงินเดือนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มต้นเดือนตุลาคมนี้' หวั่นสร้างความสับสน

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เงินเดือนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มต้นเดือนตุลาคมนี้” รองลงมาคือเรื่อง “หุงข้าวด้วยน้ำประปาเป็นการกระตุ้นมะเร็ง” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 3 ตุลาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 835,553 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 337ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 325 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 8 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 3 ข้อความรวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 182 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 101 เรื่อง 


ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 93 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 26 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 23 เรื่อง 

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 4 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 36 เรื่อง

เวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ หน่วยงานและโครงการของรัฐ โดยเฉพาะ โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ข่าวผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง เงินเดือนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มต้นเดือนตุลาคมนี้

อันดับที่ 2 : เรื่อง หุงข้าวด้วยน้ำประปาเป็นการกระตุ้นมะเร็ง

อันดับที่ 3 : เรื่อง กรุงเทพฯ เตรียมรับมือน้ำท่วมครั้งใหญ่

อันดับที่ 4 : เรื่อง เกิดโรคระบาดปอดติดเชื้อ ไม่ทราบสาเหตุ ติดเชื้อง่ายกว่าโควิด 19

อันดับที่ 5 : เรื่อง สึนามิขนาดใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

อันดับที่ 6 : เรื่อง สเปรย์รักษาแผล กำจัดรอยแผลจากการผ่าตัด ไฟไหม้ การบาดเจ็บ แผลเป็นนูน มี อย. รับรอง

อันดับที่ 7 : เรื่อง VARLITO Dietary Supplement Product รักษาปัญหาที่ต่อมลูกหมาก

อันดับที่ 8 : เรื่อง ไปรษณีย์ไทยแจ้งการจัดส่งล้มเหลว เนื่องจากข้อมูลที่อยู่ไม่ครบถ้วน ต้องยืนยันรายละเอียดผ่านลิงก์

อันดับที่ 9 : เรื่อง ต้นน้ำยม จ.สุโขทัย จะมีมวลน้ำก้อนใหญ่มาถึงในอีก 72-96 ชั่วโมง

อันดับที่ 10 : เรื่อง กระทรวงแรงงานชวนคนไทยหางานผ่านเว็บไซต์ ไทยมีงานทำ ตำแหน่งงานรองรับ 1.5 แสนอัตรา สอบถามได้ทางเพจ Typewriter Work

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามนโยบายของรัฐบาล หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

ข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสุขภาพของประชาชน รวมทั้งข่าวที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน อาจเกิดความสับสน สร้างความเสียหาย การเข้าใจผิด สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” เวทางค์ กล่าว 

สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “เงินเดือนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มต้นเดือนตุลาคมนี้” พบเป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยขณะนี้ยังไม่มีมติอนุมัติให้ขึ้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจาก 600 บาท ไปเป็น 1,000 บาทแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบัน พม. ได้จัดทำการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ด้านสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการเห็นชอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาท/คน/เดือนแบบถ้วนหน้า โดยอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การเห็นชอบต่อไป ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “หุงข้าวด้วยน้ำประปาเป็นการกระตุ้นมะเร็ง” พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับ การประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบข้อมูลและพบว่า สารก่อมะเร็งหรือสารไตรฮาโลมีเทน จะก่อมะเร็งได้ต้องมีปริมาณเกินมาตรฐานที่กำหนด เช่น มาตรฐาน USEPA ของสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ที่ 80 ไมโครกรัม/ลิตร แต่ในน้ำประปาเฉลี่ยมีประมาณ 40 ไมโครกรัม/ลิตร ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และเมื่อนำน้ำประปามาหุงข้าว ค่าที่วัดได้ก็ยังคงน้อยกว่าค่ามาตรฐานมาก โดยเฉพาะตัวข้าวมีค่าไม่เกิน 2 ไมโครกรัม/ลิตรเท่านั้น 

นอกจากนี้จากการตรวจสอบและยืนยันความปลอดภัยโดยสถาบันอาหาร ตั้งแต่ปี 2559 พบว่า น้ำประปาจากกระบวนการผลิต ตั้งแต่น้ำดิบ ระบบการผลิต ตลอดจนท่อส่งน้ำที่ส่งจ่ายให้แก่ประชาชนนั้นมีคุณภาพ สามารถอุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัย และมีการตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก เช่น คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด กรมอนามัย ซึ่งผู้บริโภคสบายใจได้ว่า สามารถนำน้ำประปามาหุงข้าวได้อย่างปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจากสารไตรฮาโลมีเทนอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) | Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com