10 ต.ค. 2567 122 0

แม่ทัพหญิงการเงินทรู คอร์ปอเรชั่น 'ยุภา ลีวงศ์เจริญ' รับรางวัล Best Women CFO – Telecom ผู้นำสตรีดีเด่นด้านการเงินกลุ่มโทรคมนาคมในเวทีระดับโลกประจำปี 2024

แม่ทัพหญิงการเงินทรู คอร์ปอเรชั่น 'ยุภา ลีวงศ์เจริญ' รับรางวัล Best Women CFO – Telecom ผู้นำสตรีดีเด่นด้านการเงินกลุ่มโทรคมนาคมในเวทีระดับโลกประจำปี 2024

ทรู คอร์ปอเรชั่น ประสบความสำเร็จอีกขั้นในระดับนานาชาติ เผย “ยุภา ลีวงศ์เจริญหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) ได้รับการยกย่องด้วยรางวัลอันทรงเกียรติ "Best Women Chief Financial Officer– Telecom" หรือ ผู้นำสตรีดีเด่นด้านการเงินของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จาก Women's Tabloid Awards ประจำปี 2024 เวทีระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องความสำเร็จของสตรีในหลากหลายสาขาอาชีพ  ซึ่งรางวัลนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความเป็นเลิศในการบริหารการเงินของผู้บริหารหญิงแกร่งท่านนี้เท่านั้น แต่ยังตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของผู้นำสตรีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมระดับโลก อีกทั้งยังสะท้อนวิสัยทัศน์ของทรู คอร์ปอเรชั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร


ด้วยประสบการณ์อันยาวนานมากกว่า 16 ปีในฐานะผู้บริหารระดับสูง “ยุภา ลีวงศ์เจริญ” ได้สร้างผลงานอันโดดเด่นตลอดเส้นทางอาชีพ เริ่มต้นจากการทำงานในระดับบริหารในธนาคารชั้นนำของไทย ก่อนจะก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้บริหารในองค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และต่อมาได้เข้าร่วมทำงานกับ UTV  ผู้นำธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือปัจจุบันคือทรูวิชั่นส์  ในช่วงที่บริษัทเผชิญกับ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ที่เงินบาทลอยตัวและต้นทุนด้านคอนเทนท์ที่ซื้อจากต่างประเทศมาสูงขึ้นเป็น “เท่าตัว”  และด้วยความทุ่มเทอย่างเต็มกำลัง และความสามารถที่โดดเด่นสามารถผลักดันบริษัทผ่านสถานการณ์อันยากลำบากมาได้ จึง ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงินกลุ่ม ดูแลทุกธุรกิจของกลุ่มทรู  และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงินกลุ่มทรู เป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคในเดือนมีนาคม 2566 โดยปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) ของ ทรู คอร์ปอเรชั่น  

ยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า "รางวัลอันทรงเกียรตินี้ไม่เพียงแต่เป็นความภาคภูมิใจของดิฉันเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของทรู คอร์ปอเรชั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการสร้างโอกาสสำหรับผู้หญิงในทุกระดับขององค์กร ความสำเร็จนี้เกิดจากการผสมผสานระหว่างความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional agility) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Innovative thinking) และทัศนคติเชิงบวกพร้อมรับการเปลี่ยน (Adaptive attitude) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับผู้นำในยุคดิจิทัล"

ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ยุภาได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการนำพาองค์กรผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการควบรวมกิจการครั้งสำคัญระหว่างทรู กับดีแทค ในปี 2566 ซึ่งถือเป็นการควบรวมด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากการควบรวมกิจการ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 2.5 แสนล้านบาท

ล่าสุด ยุภามีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านความยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่น โดยทรูเป็นบริษัทโทรคมนาคมและเทคโนโลยีแห่งแรกของไทยที่ได้รับ “เงินกู้ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Syndicated Loan)” มูลค่ารวม 1.41 แสนล้านเยน (ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท) เพื่อนำเงินที่ได้ไปจ่ายคืนเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท วงเงินกู้นี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่ยังสอดคล้องกับแผนการบริหารการเงินและการลดต้นทุนของบริษัทอีกด้วย นอกจากนี้ การเข้าสู่ตลาดเงินเยนของญี่ปุ่นยังช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน เพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการบริหารการเงิน เป็นการขยายแหล่งเงินทุนตลอดจนลดความเสี่ยงจากการใช้สินเชื่อเงินบาทหรือดอลลาร์สหรัฐ (USD) เพียงอย่างเดียว

ที่น่าสนใจคือ วงเงินกู้นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารญี่ปุ่นและธนาคารต่างประเทศชั้นนำในจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่บริษัทไทยเคยได้รับ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินระดับโลกต่อศักยภาพและการดำเนินงานของทรู คอร์ปอเรชั่น

ยุภายังให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เท่าเทียมและครอบคลุม รวมถึงการบริหารการใช้ทรัพยากรทางการเงินเพื่อผลประโยชน์ของพนักงานทุกเพศ รวมถึงกลุ่มชาย หญิง และ LGBTQI+

"ในฐานะผู้หญิง ดิฉันภูมิใจที่ได้เห็นการเปิดกว้างมากขึ้นในสังคม และโอกาสที่เท่าเทียมกันในแวดวงธุรกิจ" ยุภากล่าว "นอกจากวิสัยทัศน์ ความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ (Systems Thinking) และการมองภาพรวมที่จำเป็นต้องมีในผู้นำทุกคน ผู้หญิงสามารถนำคุณสมบัติที่มีในตัวทั้งความรอบคอบ อดทน และความใส่ใจในรายละเอียดมาเสริมทำให้การตัดสินใจทำได้เด็ดขาดเฉียบคมมากขึ้น สามารถนำพาองค์กรก้าวผ่านอุปสรรคและความท้าทาย พร้อมสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร และสังคมโดยรวม" ยุภา แม่ทัพหญิง กล่าวในที่สุด


รางวัล Women's Tabloid Awards เป็นเวทีระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องความสำเร็จของสตรีในหลากหลายสาขาอาชีพ โดยเฉพาะในบทบาทผู้นำและผู้บริหารระดับสูง การได้รับรางวัลนี้ไม่เพียงแต่เป็นการยกย่องความสำเร็จส่วนบุคคล แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในด้านความเท่าเทียมทางเพศและคุณค่าของความหลากหลายในการบริหารองค์กรระดับโลก

ความสำเร็จของยุภาและการได้รับรางวัลครั้งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงรุ่นต่อไปที่มุ่งมั่นจะก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำในวงการธุรกิจ และยืนยันถึงบทบาทสำคัญของผู้นำหญิงในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จในยุคดิจิทัล