15 ต.ค. 2567 170 0

ทรู คอร์ปอเรชั่น คว้า 2 รางวัล 'UN Women 2024 Thailand WEPs Awards' ต้นแบบผู้นำหญิง - สถานที่ทำงาน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

ทรู คอร์ปอเรชั่น คว้า 2 รางวัล 'UN Women 2024 Thailand WEPs Awards' ต้นแบบผู้นำหญิง - สถานที่ทำงาน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

อีกหนึ่งบทพิสูจน์ในการสร้าง “Best Place to Work” สถานที่ทำงานที่ดีที่สุด...ผู้นำหญิงเก่ง CHRO แห่งทรู ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ (ซ้าย) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ต้นแบบแม่ทัพหญิงผู้ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเท่าเทียมทางเพศและการส่งเสริมศักยภาพสตรี รับ 2 รางวัลระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก “UN Women 2024 Thailand WEPs Awards” ได้แก่ 1. รางวัลผู้นำองค์กรที่สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ (Leadership Commitment) จาก สุดา สุหลง (ขวา) รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ 2. รางวัล Honorable Mention สาขา สถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender-Inclusive Workplace) จากคาเธีย ฟรายวาล์ด (ขวา) ผู้จัดการโครงการ WeEmpower Asia แห่งภูมิภาคเอเชีย ในงานประกาศรางวัล WEPs Awards ประจำปี 2567 ที่องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) จัดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) รัฐบาลออสเตรเลีย ร่วมกับองค์กรภาคี อาทิ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) เพื่อเชิดชูผู้บริหารและองค์กร ที่มีแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมเสมอภาคทางเพศ และศักยภาพสตรีในภาคธุรกิจ ภายใต้หลักการ Women's Empowerment Principles (WEPs)


ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ที่ทรู คอร์ปอเรชั่น เราเชื่อว่าการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ยังเป็นสิ่งที่ชาญฉลาด ด้วยเราเป็นเทคคอมปานีไทย ที่มุ่งพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และศักยภาพสตรีในองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับในความหลากหลาย เปิดกว้างให้พนักงานทุกคน ทุกระดับ ไม่ว่าหญิงหรือชายได้เติบโตไปด้วยกัน ซึ่งภายหลังการควบรวม ทรู-ดีแทค เรามีความหลากหลายของพนักงานมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและเห็นคุณค่าในศักยภาพของผู้หญิง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลและการเคารพสิทธิมนุษยชนที่เรายึดถือมาโดยตลอด”


“ทรู คอร์ปอเรชั่น กำหนดนโยบายและดำเนินการต่างๆ ที่ส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงในองค์กรที่ชัดเจน อาทิ การสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทั้งการส่งเสริมตำแหน่งคณะกรรมการบริษัทที่จะต้องมีสัดส่วนอย่างน้อย 30% เรามีพนักงานหญิงในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ Science, Technology, Engineering and Mathematics (STEM) 38% ซึ่งสามารถทำได้เกินเป้าหมายที่ 35% อีกทั้งมีพนักงานเพศหญิงในระดับผู้บริหารที่อยู่ในหน่วยงานที่สร้างรายได้ 56% เกินเป้าหมายที่ 50% รวมถึงส่งเสริมความสามารถและพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้แก่พนักงานผู้หญิงผ่านการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อให้สามารถเติบโตในสายอาชีพ ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ความแตกต่างและข้อจำกัดของผู้หญิงต่อการเข้าสู่สนามการทำงาน ทรู ยังได้กำหนดนโยบายและจัดสรรสวัสดิการที่เกี่ยวข้องต่อการทำหน้าที่แม่ เช่น การลาคลอดได้ 6 เดือนหรือ 180 วัน เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน การกำหนดเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ตามความต้องการ รวมถึงการจัดพื้นที่ห้องให้นมบุตร เป็นต้น ซึ่งผลจากการสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ ทำให้พนักงานผู้หญิงกลับมาทำงานหลังใช้สิทธิ์ลาคลอด/ลาเลี้ยงดูบุตรมากขึ้นถึง 87% นอกจากนี้ บริษัท ยังได้จัดตั้ง Bring Your Best Club คอมมิวนิตี้รับฟังเสียงของพนักงาน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แบ่งปันมุมมอง เพื่อนำไปขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นนโยบายด้านบุคลากรที่เข้าใจกลุ่มที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าว เป็นกำลังใจที่สำคัญที่จะทำให้ทรู เดินหน้าขับเคลื่อนองค์กร สร้างทรู ให้เป็น “Best Place to Work” สถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ และสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดต่อไป” ศรินทร์รา กล่าวสรุป