17 ต.ค. 2567 173 0

ทรู คอร์ปอเรชั่น รุกประเมินสิทธิมนุษยชน 360 องศา ยกระดับคู่ค้าพันธมิตร สู่กระบวนการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากล

ทรู คอร์ปอเรชั่น รุกประเมินสิทธิมนุษยชน 360 องศา ยกระดับคู่ค้าพันธมิตร สู่กระบวนการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากล

ขีดความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Emerging Technology) ที่กำลังเติบโตอย่างทวีคูณ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ประเด็นนี้กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เกิดเป็นภัยไซเบอร์ที่มาในหลากหลายรูปแบบกลลวง อาทิ การสอดแนมข้อมูล (Dataveillance) การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) การปลอมแปลงลักษณะบุคคล (Deepfake) การบิดเบือนข้อมูลและให้ข้อมูลเท็จ (Misinformation and Disinformation) หรือแม้กระทั่งการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นมากกว่า 182 ครั้งใน 34 ประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูล


สรุปครบ ฮาวทูเช็ค! ด้วย HRDD เครื่องมือตรวจประเมินสิทธิมนุษยชนแบบ 360 องศา

ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้นำเทคคอมปานีไทย และหนึ่งในองค์กรผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand – UNGCNT) ได้ทำการศึกษาประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและความท้าทายใหม่ๆ ตามบริบทการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่รวดเร็วอยู่เสมอ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางและกรอบนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนรอบด้านโดยใช้มาตรฐานสากล อาทิ ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UN Universal Declaration of Human Rights) อนุสัญญาหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO Core Conventions) ครอบคลุมทุกกลุ่มตั้งแต่พนักงาน ชุมชน ลูกค้า คู่ค้า ตลอดจนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงแรงงานต่างชาติ และยังกำหนดให้มีกระบวนการสอบทานสิทธิมนุษยชนรอบด้าน (Human Rights Due Diligence - HRDD) ทุก 2 ปีในส่วนของการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ยังขยายกระบวนการดังกล่าวให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมุ่งเน้นไปที่คู่ค้าหลักรายสำคัญให้ได้ 100% เพื่อยกระดับตามมาตรฐานสากล ในการระบุ ป้องกัน บรรเทา และจัดการผลกระทบต่อที่เกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่มีหลักการอยู่ 5 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ประกาศนโยบายและหลักการของบริษัทฯ ว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน
  2. ประเมินเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเสี่ยงผ่านบริษัทที่ปรึกษาภายนอก ครอบคลุมการดำเนินงานของทรู 100% และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า
  3. บูรณาการนโยบายกับการประเมินกลไกการควบคุมภายในและภายนอก รวมถึงบริษัทร่วมทุน พร้อมจัดมาตรการบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดในอนาคต
  4. ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานผ่านช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่ายและสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา
  5. แก้ไขให้ถูกต้องและพร้อมเยียวยา พร้อมทบทวนนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการดำเนินธุรกิจและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกปี


นอกจากนี้ ทรู ยังได้จัดทำหลักธรรมาภิบาลสำหรับคู่ค้า (Business Partner Code of Conduct) โดยให้คู่ค้าของทรูทั้งหมด 1,446 บริษัท ลงนามรับทราบและต้องผ่านการประเมินทางระบบออนไลน์ หากไม่ผ่านการประเมินก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมร่วมกันได้

จัดการ 3 ประเด็นสำคัญ เพื่อสวัสดิภาพของทุกกลุ่ม สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน

ในปี 2567 คู่ค้าหลักทางตรงรายสำคัญทั้งสิ้น 42 รายของทรู เข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนไปแล้วกว่า 40% โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ทำการตรวจประเมิน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และพบประเด็นที่มีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ (Salient Issues) 3 ประเด็น จากทั้งหมด 28 ประเด็น ได้แก่

  1. สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาเช่าช่วง
  2. การจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีความรับผิดชอบ
  3. ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของคู่ค้า


โดยทรู ได้ร่วมกำหนดแนวทางในการลดความเสี่ยง ตลอดจนวิธีป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจสอบแก้ไข และเยียวยาร่วมกันกับคู่ค้าอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ในปี 2566 มีจำนวนผู้บาดเจ็บจากการทำงานของคู่ค้าหลักทางตรงและผู้รับเหมาลดลงเหลือ 45 ราย จาก 73 รายในปี 2565

ขณะเดียวกัน ในส่วนของทรู ได้เพิ่มการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในกระบวนการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าบริษัท โดยตั้งเป้าให้มีการประเมิน 100% หากมีคำขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลจากหน่วยงานภายในองค์กรและจากหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ทรู ยังได้แก้ไขแบบฟอร์มการขอความยินยอมใช้ข้อมูลลูกค้า (consent) ทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย PDPA และเพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้าทรู 


ทรู คอร์ปอเรชั่น ตั้งปณิธานที่จะบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน ซึ่งเป็น 1 ในเป้าหมายระยะยาว 14 ข้อ โดยกำหนดให้มีการประเมินด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรและคู่ค้าทางตรงที่มีความสำคัญครบทั้ง 100% และมีการลงพื้นที่ตรวจประเมินซ้ำทุกปี หากพบว่าคู่ค้าไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลของคู่ค้าจะถูกทบทวนหรือยกเลิกสัญญา เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนระดับโลกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเทคโนโลยีในปี 2573 ทั้งนี้ สามารถติดตามการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเพิ่มเติมได้ที่ https://www.true.th/sustainability/ 


บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย ดร.เจน ศรีวัฒนะธรรมา หัวหน้าสายงานจัดซื้อและโลจิสติกส์ เปิดการอบรมและจัดเวิร์คช็อปการทวนสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) พร้อมเชิญบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ บจ. อีอาร์เอ็ม-สยาม ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและวิธีการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน แก่คู่ค้าพันธมิตรหลัก ณ ทรู ทาวเวอร์ ถ.รัชดาภิเษก

#ยั่งยืนที่แท้ทรู #TrueSustainability

อ่านบน True Blog https://trueblog.dtac.co.th/blog/hrdd