ISC2 ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เสริมสร้างบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ภายใต้ความร่วมมือนี้จะมีการแจกสิทธิ์ในการเข้าฝึกอบรมและสอบเพื่อรับใบประกาศณียบัตร ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับสากลฟรี จำนวน 10,000 สิทธิ์ จนถึงปี 2026
ISC2 องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้ประกาศความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งความร่วมมือนี้มุ่งเน้นในเรื่องการสร้างบุคลากรของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศในประเทศไทยให้มีทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ISC2 ได้จัดตั้งโครงการ One Million Certified in Cybersecurity ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และตอบสนองต่อความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ
ภายใต้ความร่วมมือนี้ ISC2 จะมีการแจกสิทธิ์ในการเข้าสอบเพื่อรับใบประกาศณียบัตรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล “Certified in Cybersecurity (CC)” รวมถึงสิทธิ์ในการเข้ารับการฝึกอบรมแบบเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-pace Learning) ซึ่งเป็นความตั้งใจของ สกมช. ที่มุ่งสร้างเส้นทางสายอาชีพสำหรับบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และยกระดับทักษะให้มีความเชี่ยวชาญ โดย ISC2 และ สกมช. จะมอบโอกาสในการเข้ารับการฝึกอบรมและสอบเพื่อรับใบประกาศณียบัตรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับสากลฟรี จำนวนรวมทั้งสิ้น 10,000 สิทธิ์ ตลอดระยะเวลา 2 ปี ให้กับบุคคลที่ต้องการสร้างหรือพัฒนาทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือมุ่งหวังเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพนี้ โครงการนี้จะสนับสนุนภารกิจของ สกมช. ในการยกระดับมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กรและเพิ่มความเป็นมืออาชีพให้กับบุคลากร
ด้วยความตระหนักด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลไทยได้ออกกฎหมายใหม่เพื่อเสริมสร้างการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้องค์กรทั่วประเทศ ในขณะที่ตลาดเทคโนโลยีและการบริการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของไทยคาดว่าจะเติบโตที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 14.10% ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยความร่วมมือกับ ISC2 นี้ จะสามารถสนับสนุน รองรับธุรกิจและปกป้องโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศที่กำลังขยายตัวนี้ได้เป็นอย่างยิ่ง
Tara Wisniewski รองประธานบริหารด้าน Advocacy, Global Markets และ Member Engagement ของ ISC2 กล่าวว่า "ความร่วมมือกับ สกมช. นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมมือกับ สกมช. เราไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการเร่งด่วนในเรื่องการสร้างบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทย แต่ยังร่วมสร้างเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนให้ผู้ที่สนใจเข้าสู่วงการนี้และยกระดับความสามารถในการต่อต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ เมื่อภัยคุกคามทางไซเบอร์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านนี้ยิ่งมีความสำคัญมาก โครงการนี้จะช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้าสู่เส้นทางสายอาชีพนี้ และมอบพื้นฐานความรู้ทางไซเบอร์และความสำเร็จให้แก่ผู้ที่ต้องการที่จะเป็นมืออาชีพด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทย เราหวังว่าจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ สกมช. เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางไซเบอร์ในปีต่อ ๆ ไป"
พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า "ความร่วมมือกับ ISC2 นี้ เป็นพันธกิจร่วมของเราในการสร้างบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ สกมช. โดยผ่านความร่วมมือและโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สกมช. ได้จัดตั้งโครงการฝึกอบรมและความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เพื่อเสริมสร้างพลังให้กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นมืออาชีพด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทย และด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ISC2 เรากำลังสร้างเส้นทางอาชีพทางไซเบอร์ที่ชัดเจนให้บุคคลได้พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถที่จำเป็นในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ เมื่อภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามุ่งหวังที่จะยกระดับความพร้อมทางไซเบอร์ของประเทศไทยและเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก"
ISC2 ได้เพิ่มความพยายามในการปิดช่องว่างกำลังคนด้านไซเบอร์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งขาดแคลนมากถึง 3.37 ล้านคน โดยได้เปิดตัวการรับรอง CC (Certified in Cybersecurity) ในปี 2022 และจนถึงขณะนี้มีผู้ได้รับการรับรองกว่า 15,000 คนในภูมิภาคนี้ และมีผู้ลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับการรับรองกว่า 112,000 คน แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นในอาชีพด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การนำการรับรอง CC มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มศักยภาพด้านกำลังคนของ สกมช. ทำให้ ISC2 มุ่งมั่นสนับสนุนและพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเข้าสู่สายงานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
โครงการรับรอง CC ของ ISC2 เปิดให้กับบุคคลจากทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์มาก่อน ผู้จบการศึกษาจากสาขาที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพ ตามรายงานของ ISC2 ที่ได้มีการสำรวจการจ้างงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า 32% ของการจ้างงานให้ความสำคัญกับการมีใบรับรองด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์มากที่สุด โดยข้อเสนอที่มอบสิทธิ์การสอบเพื่อให้ได้รับการรับรองที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย โครงการ CC จึงมีส่วนช่วยลดช่องว่างด้านกำลังคนและทักษะในสายงานนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสเริ่มต้นอาชีพแรกในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ก่อตั้งขึ้นในปี 2019 และได้มีส่วนสำคัญในการปกป้องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบนิเวศดิจิทัล โดย สกมช. ได้มีการจัดตั้งโครงการสำคัญในการฝึกอบรม "Cyberwarriors" จำนวน 10,000 คน ร่วมกับมหาวิทยาลัยกว่า 20 แห่ง โดยมีการจัดทำหลักสูตร และมีการเข้าฝึกงานที่มุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยของระบบคลาวด์และเสริมสร้างทักษะที่จะสามารถไปปฏิบัติงานได้จริง นอกจากนี้ สกมช. ยังได้จัดการฝึกอบรมผ่าน National Cyber Academy ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คน พร้อมมอบใบรับรองเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทั้งผู้เริ่มต้นและผู้มีประสบการณ์ในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
หากต้องการเริ่มต้นเส้นทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ได้รับการรับรองจาก สกมช. สามารถคลิกที่นี่:
https://my.isc2.org/s/Candidate-Application-Form?utm_id=PRTTKWbv5UqeHkK
เรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ สกมช. และติดตามเราได้ทาง Facebook Page NCSA Thailand