กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เผยภาพผู้ต้องหา THE iCON GROUP ในเรือนจำ” รองลงมาคือเรื่อง “ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ผู้ลงทะเบียนได้รับทุกคนในเดือนธันวาคม จะโอนเงินเข้าแอปฯ ทางรัฐ” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความวิตกกังวล ความสับสน ความเข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 11-17 ตุลาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 821,387 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 400 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 375 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 21 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 248 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 101 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 95 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 30 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 27 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 8 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 88 เรื่อง
เวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ และนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นข่าวที่เกี่ยวข้อง และมีผลกระทบต่อสังคม สร้างความวิตกกังวล หรือความเข้าใจผิด โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง เผยภาพผู้ต้องหา THE iCON GROUP ในเรือนจำ
อันดับที่ 2 : เรื่อง ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ผู้ลงทะเบียนได้รับทุกคนในเดือนธันวาคม จะโอนเงินเข้าแอปฯ ทางรัฐ
อันดับที่ 3 : เรื่อง พายุไต้ฝุ่น เข้ามาอีก 3 ลูก น้ำท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน
อันดับที่ 4 : เรื่อง หากคอเลสเตอรอลสูง และไตรกลีเซอไรด์สูง ไม่ต้องทานยา เพราะยาเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจ
อันดับที่ 5 : เรื่อง ต้นต้อยติ่งนำไปต้มน้ำ แล้วนำมาดื่มก่อนอาหาร เช้า เย็น สามารถช่วยฟื้นฟูไตได้
อันดับที่ 6 : เรื่อง การไฟฟ้าแจ้งเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นแบบดิจิตอลให้ฟรี โดยให้ติดต่อผ่านไลน์
อันดับที่ 7 : เรื่อง ทำ IF ปล่อยให้ร่างกายหิว ช่วยกำจัดเซลล์ที่ป่วย และโรคอัลไซเมอร์
อันดับที่ 8 : เรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดให้ติดต่อ PEA e-Service โดยส่งเอกสารผ่านไลน์ และสนทนาวิดีโอคอลกับเจ้าหน้าที่
อันดับที่ 9 : เรื่อง เจ้าหน้าที่กรมขนส่งเปิดช่องทางให้ ลงทะเบียนทำใบขับขี่ออนไลน์เพียง 1 ชั่วโมง ผ่านเพจ ศูนย์การจัดการออกบัตรใบขับขี่ DLT
อันดับที่ 10 : เรื่อง กรุงไทยเปิดให้ลงทะเบียนอาชีพอิสระ แม่ค้า ลูกจ้าง กู้ได้ 5 หมื่น ผ่อน 826 บาท/เดือน
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐและโครงการของรัฐ มากถึง 6 อันดับ และข่าวที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ สุขภาพ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล ความสับสน สร้างความเสียหาย การเข้าใจผิด ให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “เผยภาพผู้ต้องหา THE iCON GROUP ในเรือนจำ” พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอีได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพผู้ต้องหา THE iCON GROUP ขณะที่อยู่ในเรือนจำ ทางสื่อต่าง ๆ นั้น พบว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพประกอบในละคร “ศีล 5 คนกล้า ท้าอธรรม” ซึ่งภาพดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์ และมิใช่ภาพจำลองเหตุการณ์จริง รวมถึงไม่ใช่สถานที่ภายในเรือนจำแต่อย่างใด
โดยหากมีการแชร์ส่งต่อกันไปอาจทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นภาพที่ถ่ายจากภายในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจาก กรมราชทัณฑ์ สามารถติดตามได้ที่ www.correct.go.th หรือ โทร. 02-967-2222
ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ผู้ลงทะเบียนได้รับทุกคนในเดือนธันวาคม จะโอนเงินเข้าแอปฯ ทางรัฐ” พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอีได้ประสานงานตรวจสอบคลิปข้อมูลกล่าวร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และขอชี้แจงว่า ปัจจุบัน “แอปพลิเคชันทางรัฐ” ยังไม่มีการเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารและไม่มีการเก็บข้อมูลบัญชีธนาคารของประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่มีการโอนเงินเข้า “แอปฯ ทางรัฐ” โดยขณะนี้ “แอปทางรัฐ” จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการของหน่วยงานรัฐเท่านั้น ภายใต้วิธีการเชื่อมต่อที่มีการควบคุมกำกับดูแล และมีความมั่นคงปลอดภัยสูง ไม่มีการเปิดให้บุคคลทั่วไป หรือภาคเอกชน หรือธนาคารเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีและระบบบริการกับแอปพลิเคชันแต่อย่างใด ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้ที่เว็บไซต์ www.dga.or.th หรือ โทร. 02-612-6060
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) | Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com