วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 21-27 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 213,500 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เครือข่าย DTAC แจ้งว่าหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เสียหาย เป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลทองคำน้ำหนัก 5 บาท และได้มีการเพิ่มเพื่อนทาง Line เจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอนเพื่อยืนยันการรับรางวัลทางบริษัท โดยมีการสแกนใบหน้า จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เงียบหายไป ผู้เสียหายรู้สึกผิดปกติ จึงพยายามพิมพ์ข้อความติดต่อกลับไปแต่ไม่มีการตอบกลับ ต่อมาภายหลังได้เช็คยอดเงินในบัญชีของตนเอง พบว่ามีการโอนเงินออกไป ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 101,115 บาท ผู้เสียหายพบโฆษณาสินเชื่อกู้เงินผ่านช่องทาง Tiktok ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียด จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพแจ้งกับผู้เสียหายว่าให้โอนเงินค่าดำเนินการ และค่าประกันสินเชื่อก่อน แล้วรอการอนุมัติสินเชื่อ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำการโอนเงินไป ต่อมาภายหลังต้องการติดตามความคืบหน้าสินเชื่อ แต่ไม่ สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 258,831บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แจ้งว่าให้ผู้เสียหายยืนยันการคุ้มครองเงินบำนาญ หลังจากนั้นมิจฉาชีพได้ให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอน รวมถึงสแกน QR Code เพื่อยืนยันข้อมูลแล้วก็แจ้งว่าดำเนินการให้เรียบร้อย ต่อมาภายหลังผู้เสียหายจะชำระสินค้าโดยโอนเงินผ่าน Mobile Banking จึงพบว่ายอดเงินในบัญชีไม่เหลือ ได้ถูกโอนเงินออกไปจนหมด ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 406,000 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากทางมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนลงทุนหารายได้ พิเศษ เป็นการลงทุนซื้อขายออนไลน์สินค้าของใช้ทั่วไป โดยให้ตนโอนเงินลงทุนเข้าไปก่อน จึงจะได้รับกำไร เมื่อลงทุนในระยะแรกได้กำไรดี ตนจึงโอนเงินลงทุนเพิ่มสะสมเพื่อเป็นกำไร หวังผลในโอกาสถอนครั้งต่อไป ปรากฏว่าเมื่อต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ จากนั้น พยายามติดต่อปลายทางแต่ไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 110,530 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ใช้โพร์ไฟล์เป็นหญิงสาว หน้าตาดีและได้เพิ่มเพื่อนทาง Line พูดคุยสนทนากันจนสนิทใจแต่ยังไม่เคยพบเจอกัน ต่อมามิจฉาชีพแจ้งกับผู้เสียหายว่าให้โอนเงินไปร่วมลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับรองเท้า เพื่อเป็นเงินในการสร้างอนาคตร่วมกัน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปหลายครั้ง ยอดเงินครั้งสุดท้ายเป็นเงินจำนวนสูงมากจนน่าสงสัย ผู้เสียหายจึงขอโทรวิดีโอคอล ฝ่ายหญิงปฏิเสธและทำการบล็อก ไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 1,089,976 บาท
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 25 ตุลาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,159,5403 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,221 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 356,313 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,120 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 105,6230 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.64 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 87,535 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.58 (3) หลอกลวงลงทุน 55,076 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 15.46 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 29,270 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.21 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 27,880 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.82 (และคดีอื่นๆ 50,929 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.29)
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ หรือหลอกลวงให้มีการกู้เงิน รวมทั้งหลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจ ด้วยวิธีการติดต่อโทร หรือผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok ก่อนที่จะให้สแกนใบหน้าผ่านแอปพลิเคชัน Line ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขณะเดียวกันกรณีที่อ้างมีการแอบอ้างให้บริการสินเชื่อ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความน่าเชื่อถือของบริษัที่ให้บริการ รวมทั้งการให้รางวัล หรือโอนเงินบำนาญ หรือการทำธุรกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ควรตรวจสอบจากหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง และควรตระหนักเป็นอันดับแรกว่าการติดต่อโดยตรงจากเจ้าหน้าที่รัฐถึงประชาชน เป็นการติดต่อที่น่าสงสัย
ดังนั้นขอให้สอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล และการสแกนใบหน้า นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างรอบคอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” วงศ์อะเคื้อ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441
แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) | Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com