นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของอารยธรรมทางภาษาและการจดบันทึกในยุคอียิปต์โบราณ จนถึงภาษาดิจิทัลและเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งในปัจจุบัน “ข้อมูล” (Data) หรือ เนื้อหาที่ถูกเข้ารหัสทางภาษาในการสื่อสารถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สังคมมนุษย์และมวลมนุษยชาติก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สะท้อนได้จาก Generative AI ที่ได้สร้างความมหัศจรรย์และนานาประโยชน์ที่มนุษย์คาดไม่ถึง
อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ผ่านมา ยังคงจำกัดอยู่ในแวดวงธุรกิจเป็นหลัก พร้อมยังเป็นที่ถกเถียงถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้ ในงาน dataCon 2024 งานสัมมนาที่เชื่อมกลุ่มคนที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงและคนในวงการข้อมูลให้มาพบกัน เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้นด้วยดาต้า ที่จัดขึ้น ณ True Digital Park โดยการสนับสนุนของ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้จัดเสวนาหัวข้อ “สร้างนโยบายแห่งอนาคต ด้วยพลังข้อมูล Shaping the Future with Insights”
Mobility Data เพื่อการส่งเสริมนโยบายท่องเที่ยวที่แม่นยำ-ตรงใจ
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ภาควิชาวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงการจัดทำแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด โจทย์ใหญ่เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังโควิดที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้น และการจัดเก็บข้อมูลเพื่อสำรวจพฤติกรรมการท่องเที่ยวมีข้อจำกัด ทรู-ดีแทค สดช. คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บจึงได้ผนึกกำลังวิจัย “ศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility Data” ทำให้เห็นข้อมูลที่สำคัญถึงพฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย ทั้งวิธีการเดินทาง รูปแบบการเดินทาง และได้จัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งมี 3 ด้าน ดังนี้
“เราได้วิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางแบบกลุ่มจังหวัด (คลัสเตอร์) โดยใช้ Mobility Data ว่าในหนึ่งทริปของการเดินทางผ่านจังหวัดใดบ้าง สรุปออกมาได้เป็น 19 คลัสเตอร์ และมี 7 คลัสเตอร์ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัดในระดับสูง ที่สามารถทำกิจกรรม โปรโมตการเดินทางร่วมกันได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ทั้งระยะเวลาในการพำนักและใช้จ่าย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างรายได้ แต่ที่ผ่านมากลับพบปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ท่องเที่ยวและการกระจายรายได้มาโดยตลอด ซึ่งผลวิเคราะห์ Mobility Data นี้เอง จะช่วยเสริมแกร่งให้จังหวัดเมืองรอง สามารถวางกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามศักยภาพของตนเอง เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ใช่มายังจังหวัด อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่เมืองรองได้อย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Mobility Data ยังมีศักยภาพสามารถนำมาวิเคราะห์ในด้านการให้บริการสาธารณะด้านอื่น ๆ ได้ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
“การใช้ Mobility Data ไม่เพียงแต่ช่วยให้นโยบายของรัฐสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหาอย่างทรู-ดีแทคได้มองเห็นโอกาสจากการวิเคราะห์ดาต้าเพื่อการออกแบบนโยบายสาธารณะ ที่เปิดให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกันวางนโยบายสำหรับอนาคต” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ กล่าว
ความท้าทายของการใช้ข้อมูล
ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐมีข้อมูลหลายชุด ทั้งดาต้าของแต่ละหน่วยงาน ดิจิทัล ฟุตปรินต์ แต่การบริหารจัดการข้อมูล และนำข้อมูลมาออกแบบนโยบายในภาพใหญ่ของประเทศ ต้องเข้าใจปัญหาให้รอบด้าน และลงลึกถึงกลุ่มที่ภาครัฐต้องการเข้าไปช่วยเหลืออย่างแท้จริง ผ่านการเก็บข้อมูลให้ครบทั้ง 3 มิติ หนึ่ง ครอบคลุมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สอง ลงลึกถึงรายละเอียด และสาม ต้องเห็นความเชื่อมโยง
ทั้งนี้ การนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์จะต้องส่องให้ครบ 5 เลนส์สำคัญ คือ
“ดาต้า ทำให้มีหลายเลนส์ที่เห็นกันได้ แต่การทำนโยบายที่ดีที่สุด ต้องนำทุกเลนส์เข้ามาร่วมกัน แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายในการนำข้อมูลมาใช้เพื่อออกแบบนโยบาย หนึ่ง คือข้อมูลไม่ครบ การใช้ข้อมูลต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน สอง การนำข้อมูลมาใช้ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูล สาม การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน และสี่ การแชร์ข้อมูล จะสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการออกแบบนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะได้อีกมาก” ดร.โสมรัศมิ์ กล่าว
ด้าน LINE MAN Wongnai ในฐานะเป็นบริษัทเอกชนที่ใช้ข้อมูลในการดำเนินธุรกิจ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีการเก็บข้อมูลจำนวนมาก และเก็บทุกรายละเอียดของธุรกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของคนไทย ข้อมูลธุรกิจร้านอาหาร และนำไปเผยแพร่บางส่วนเพื่อให้สังคมนำไปวิเคราะห์ได้ สามารถออกแบบนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการได้ โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็ก เช่น การสำรวจข้อมูลร้านอาหารในประเทศไทย ดัชนีอาหารจานเดียว (กะเพรา อินเด็กซ์) เพื่อเทียบราคาอาหารกับเงินเฟ้อ รวมถึงการใช้นโยบายคนละครึ่ง มีส่วนช่วยธุรกิจร้านอารหารได้มากน้อยเพียงใด และยังมีข้อมูลอีกมากที่ภาครัฐสามารถนำไปออกแบบนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชน
“สุดท้าย อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูล ทั้งข้อมูลทางการค้า ข้อมูลส่วนบุคคล อยากให้มีกลไก หรือกรอบทางกฎหมายที่จะทำให้เอกชนมั่นใจว่าการนำข้อมูลไปใช้จะไม่มีปัญหาตามมา ถือเป็นสิ่งสำคัญในการแชร์ข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน” อิสริยะ กล่าวทิ้งท้าย
อ่านบน True Blog: https://trueblog.dtac.co.th/blog/mobility-data-4/