กระทรวงดีอี โดย ดีป้า เปิดเวทีประชันทักษะการบินและการซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ ในรายการ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 ในโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) พร้อมเผยโฉมแชมป์บิน – ซ่อมโดรนเกษตรครั้งแรกของไทย เตรียมพร้อมต่อยอดยกระดับทักษะเกษตรกรและช่างซ่อมชุมชนทั่วประเทศ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า จัดการแข่งขันการบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ในรายการ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวเป็นกิจกรรมสำคัญในโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรและกลุ่มชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้วยตราสัญลักษณ์ dSURE จาก ดีป้า
สำหรับการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 จัดขึ้นที่สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี สามารถ สุวรรณมณี ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการแข่งขัน และได้รับเกียรติจาก พรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ คณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มชุมชน เกษตรกร และประชาชนที่สนใจร่วมชมร่วมเชียร์และเป็นกำลังใจให้ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก
สามารถ กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมามีเกษตรกรราว 500,000 ครัวเรือน และมีพื้นที่การเกษตรกว่า 8 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง ข้าว และอ้อย โดยจังหวัดนครราชสีมาถือเป็นแหล่งปลูกและผลิตมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ส่งผลให้นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรต่อเนื่อง ซึ่งการนำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรมาประยุกต์ใช้สามารถยกระดับการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า การแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรมีจุดเริ่มต้นมาจากความตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทยให้มีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่ยุคเกษตรอัจฉริยะ โดยการส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง โดยเฉพาะโดรนเพื่อการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการดูแลพืชผล ดังนั้นการแข่งขันในวันนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเวทีประลองฝีมือ แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับทักษะและต่อยอดศักยภาพของนักบินโดรน และช่างซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรจากทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายพื้นที่
“ทั้งนี้ โดรนเพื่อการเกษตรที่ผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับการยกระดับมาตรฐาน dSURE ทั้งในด้านความปลอดภัย มีคุณภาพ และราคาที่สมเหตุสมผล การันตีด้วยการขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัล เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง การบิดเบือนตลาด และก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่วนในปี 2568 ดีป้า พร้อมสานต่อการส่งเสริมให้กลุ่มชุมชนและเกษตรกรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอื่นนอกเหนือจากโดรนเพื่อการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี IoT และ Cloud Computing ที่จะนำมาใช้ร่วมกับเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงรถแทร็กเตอร์ที่มีการติดตั้งระบบ GPS และรองรับการควบคุมผ่านสัญญาณ 5G ที่จะนำมาใช้บริหารจัดการแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรไทยในยุคดิจิทัล” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ที่ผ่านมา ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตรได้ร่วมจัดการแข่งขันรอบคัดเลือก ระดับภูมิภาคใน 5 ภูมิภาค จนได้ทีมที่ผ่านเข้ารอบรวม 131 ทีมมาร่วมชิงชัยในรายการ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 ในวันนี้ โดยแบ่งเป็นการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร 100 ทีม และการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 31 ทีม ซึ่งผลการแข่งขันแบ่งเป็นทีมผู้ชนะการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย
ทีมผู้ชนะการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย
ทั้งนี้ การแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร
ทั้งรอบคัดเลือก ระดับภูมิภาค และรอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อีซี่ 2018 จำกัด และ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรและกลุ่มชุมชนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาสเข้าถึงและพัฒนาทักษะดิจิทัล ตอบโจทย์การขับเคลื่อนชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างยั่งยืน
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ได้ที่ Facebook Page: depa Thailand