6 พ.ย. 2567 44 0

ขี้เกียจแบบใดให้ได้โอกาสทำเงิน! CMMU พาเปิดขุมทรัพย์ จาก 4 พฤติกรรมสุดขี้เกียจ ช่องทางทำตลาดและโกยรายได้ที่ไม่มีวันแผ่ว

ขี้เกียจแบบใดให้ได้โอกาสทำเงิน! CMMU พาเปิดขุมทรัพย์ จาก 4 พฤติกรรมสุดขี้เกียจ ช่องทางทำตลาดและโกยรายได้ที่ไม่มีวันแผ่ว

เชื่อหรือไม่ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่กดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ ทั้งที่ร้านอยู่ใกล้แค่ใต้คอนโด สั่งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อทั้งที่ร้านอยู่แค่ฝั่งตรงข้าม หรือยอมจ่ายเงินจ้างคนไปต่อคิวเพื่อซื้อของ ทำธุระ หรือแม้แต่เล่นเกมแทน นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของ “พฤติกรรมขี้เกียจ" ที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบาย แม้กระทั่งกิจกรรมง่ายๆ หรือใช้เวลาไม่มาก


การเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เต็มใจจ่ายและพร้อมใช้เงินแก้ปัญหาเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เรียกว่า Lazy Economy เทรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างเศรษฐกิจวิถีใหม่ไปทั่วโลก และยังมีสถิติที่น่าสนใจพบว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลกกว่า 34% ทำธุรกิจเพื่อสนับสนุนคนขี้เกียจอีกด้วย


จากผลงานวิจัย “เจาะลึกอินไซต์ พิชิตใจคนขี้เกียจ” ของนักศึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ชี้ชัดว่าตลาดคนขี้เกียจยังคงเป็นที่จับตามองและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงอนาคต ซึ่งในวันนี้ ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด จาก CMMU จะพาขยับเข้าไปทำความรู้จักกับพฤติกรรมสุดขี้เกียจ และเทรนด์ Lazy Economy ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมร่วมค้นหาสินค้า และบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์นี้ เพื่อคว้าโอกาสแจ้งเกิดและเติบโตในธุรกิจนี้ โดย ผศ.ดร.บุญยิ่ง ได้กล่าวถึง TOP 4 สุดยอดพฤติกรรมขี้เกียจ ที่ทำให้ใครๆ ก็ต้องยอมควักกระเป๋าจ่ายและเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ดังนี้


  • ขี้เกียจเดินทาง - เพราะการไปไหนมาไหนแต่ละที เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ไปทางไหนก็เจอแต่รถติด LAZY Consumer จึงยอมจ่ายเพื่อซื้อเวลา ส่งผลให้สินค้าและบริการต่างๆ ที่ช่วยลดการเดินทางตอบโจทย์และเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น บริการ Delivery ทุกรูปแบบ ทั้งส่งอาหาร ส่งของ ซึ่งปัจจุบันได้แตกไลน์บริการเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น บริการส่งด่วนทันใจภายใน 24 ชั่วโมง บริการแบบ Door-to-Door Service จากหน้าบ้านผู้ส่งถึงหน้าบ้านผู้รับ ฯลฯ บริการแบบส่งตรงถึงบ้าน เช่น  ทำสปา เสริมสวย นวดแผนไทย ล้างรถ อาบน้ำตัดขนสัตว์เลี้ยง ฯลฯ รวมถึงการช็อปออนไลน์ทุกช่องทาง ซึ่งล้วนแต่เป็นบริการที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าและได้รับบริการต่างๆ อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง


  • ขี้เกียจรอ – ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างรวดเร็ว ทันใจไปหมดอย่างทุกวันนี้ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะชาว LAZY Consumer ติดนิสัยไม่ชอบการรอคอย ชอบอะไรที่รวดเร็ว ทันใจ และไม่เสียเวลา ทำให้เกิดธุรกิจที่เน้นความรวดเร็ว สะดวกสบาย ไม่ต้องรอนาน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ธุรกิจรับจ้างต่อคิว ไม่ว่าจะเป็นการต่อคิวซื้อของ ต่อคิวร้านอาหารยอดฮิต ต่อคิวซื้อบัตรคอนเสิร์ตหรือแม้แต่ต่อคิวทำธุระที่หน่วยงานราชการ หรือบริการจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มสินค้าและบริการที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด และเพิ่มฟังก์ชันที่ช่วยให้ทำทุกอย่างได้แบบครบจบในที่เดียว เช่น บริการแบบ One stop Service แพลตฟอร์มซูเปอร์แอปที่รวมหลายๆ บริการไว้ในที่เดียว
  • ขี้เกียจออกแรง – ร้อยทั้งร้อยของ LAZY Consumer จะชอบอยู่ในโหมดประหยัดพลังงาน จึงชอบหาวิธีหรือทางลัดต่างๆ ที่จะช่วยให้ออกแรงน้อยที่สุด จึงมักเลือกใช้สินค้าหรือบริการที่ช่วยทุ่นแรงหรือให้คนมาทำแทนได้ ส่งผลให้สินค้าและบริการที่ช่วยลดภาระในชีวิตประจำวันขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เช่น บริการทำความสะอาดบ้าน จัดสวน ซักรีด ย้ายบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ฯลฯ
  • ขี้เกียจคิด ขี้เกียจตัดสินใจ – เพราะลำพังชีวิตประจำวันก็มีเรื่องให้คิดให้ตัดสินใจเต็มไปหมดชาว LAZY Consumer จึงชอบที่จะอยู่ในสภาวะทิ้งตัว และมองหาสินค้าและบริการที่ช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้น ไม่ต้องคิดเยอะ ธุรกิจแบบจัดการให้จบ ครบวงจร คิดมาให้พร้อม ไม่ต้องเสียเวลาวางแผนหรือจัดการเองจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น บริการวางแผนท่องเที่ยวแบบครบวงจรบริการจัดงานแต่งงาน บริการสไตลิสต์ส่วนตัวที่จัดส่งสินค้าไปให้ทดลองใส่ก่อนตัดสินใจซื้อ หรือสินค้า ที่จัดเป็น Set และสินค้าสำเร็จรูปพร้อมใช้ต่างๆ เช่น ชุดอาหารพร้อมปรุง (Meal Kit)ซึ่งหากเข้าใจ 4 พฤติกรรมขี้เกียจหลักๆ ของผู้บริโภคได้ก็จะทำให้มีจุดโฟกัสที่ชัดเจน นำไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ ตรงใจ และประสบความสำเร็จในธุรกิจได้


Lazy Economy เทรนด์ธุรกิจมาแรง จะอีกกี่ปีก็ไม่มีแผ่ว

แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดเกี่ยวกับมูลค่าของ Lazy Economy ทั่วโลก แต่จากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ธุรกิจ Delivery และช็อปปิ้งออนไลน์ต่างๆ ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าตลาดนี้มีศักยภาพมหาศาลและมีแนวโน้มเติบโตอีกมากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งนี้เพราะ

  • ยิ่งหาเงินได้มาก ก็ยิ่งอยากใช้เงินแก้ปัญหา ไม่ว่าใครก็ชอบความรวดเร็ว สะดวกสบาย และไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด การใช้เงินแก้ปัญหาเพื่อซื้อความสะดวกสบายก็จะยังคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ยิ่งมีรายได้สูงเท่าไหร่แนวโน้มที่จะใช้เงินซื้อความสะดวกสบายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
  • ยิ่งทำงานหนัก ก็ยิ่งไม่อยากทำอะไร เพราะลำพังแค่ทำงานอย่างเดียวก็เหนื่อยจนแทบไม่อยากไปคิดหรือทำอะไรต่อแล้ว ดังนั้น ตราบใดที่คนยังต้องทำงานหนักและมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ สินค้าหรือบริการที่ช่วยทุ่นพลังกาย พลังสมอง และทุ่นเวลาจึงไม่มีทางตกเทรนด์
  • ยิ่งเทคโนโลยีเจริญมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนขี้เกียจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีคือผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของมนุษย์ขี้เกียจ ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเจริญก้าวหน้าเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ทุกสิ่ง ทุกอย่างยิ่งง่ายเพียงแค่ขยับปลายนิ้ว เพิ่มความสะดวกสบายให้ชีวิตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 


“ตราบใดที่ผู้คนยังแสวงหา “ทางลัด” มาช่วยทำให้ชีวิต ง่าย รวดเร็ว สะดวกสบาย เศรษฐกิจขี้เกียจก็จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดไป ไม่มีวันตกเทรนด์ โอกาสแจ้งเกิดธุรกิจใหม่ๆ จึงยังเปิดกว้างเสมอสำหรับผู้ที่มองเห็น” ผศ.ดร.บุญยิ่ง กล่าวปิดท้าย

และสำหรับใครที่กำลังมองหากลยุทธ์ เทคนิค ความรู้ดีๆ เพื่อริเริ่มธุรกิจใหม่หรือต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) สถาบันการศึกษาด้านการจัดการธุรกิจชั้นนำซึ่งเปิดสอนหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต ครอบคลุมทุกด้านของการบริหารจัดการธุรกิจและการตลาด ทั้งหลักสูตรไทย หลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรออนไลน์ นานาชาติ

โดยทุกหลักสูตรได้รับการรับรองมาตรฐานจาก AACSB ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเพียง 5% ของโลกที่ได้รับการรับรองนี้ โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol (https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL)

ที่มาของข้อมูล

*https://www.masscomm.cmu.ac.th/lazy-economy-เมื่อ-ความขี้เกียจ-ข/