เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 3/2567 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 2 แต่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการ การบริโภคภาคเอกชนลดลง อัตราดอกเบี้ยที่สูงกระทบการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงเหตุอุทกภัย กลับกันปัจจัยบวกคือ เสถียรภาพทางการเมือง และตัวเลขภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ระบุผู้ประกอบการคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ออกมาตรการสนับสนุนสินค้าและบริการดิจิทัลของผู้ประกอบการไทยภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถสู่ตลาดโลก ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และควรตรวจสอบผู้ประกอบการต่างชาติที่ทำธุรกิจโดยไม่เสียภาษี
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 3 ประจำปี 2567 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 52.0 ปรับตัวลงจากระดับ 52.4 ของไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น โดยปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านคำสั่งซื้อฯ ด้านการจ้างงาน และด้านการลงทุนปรับตัวลง ขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากสภาวะหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง อีกทั้งกระทบการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือที่สร้างแรงกดดันต่อผู้บริโภค ในทางกลับกันเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและนักลงทุน ขณะที่การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ลดลงไปมาก และส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น
หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า 3 กลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 52.2 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 52.6 และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 54.1 ส่วนอีก 2 กลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 47.7 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 49.5
“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ออกมาตรการสนับสนุนสินค้าและบริการดิจิทัลไทยภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถสู่ตลาดโลก โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย ดีป้า วางแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมเพื่อยกระดับการลงทุน และพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และควรตรวจสอบผู้ประกอบการต่างชาติที่ทำธุรกิจโดยไม่เสียภาษี” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 3 ประจำปี 2567 ผ่านช่องทางการสื่อสารของ ดีป้า ไม่ว่าจะเป็น www.depa.or.th/th/depakm/digital-indicators, LINE OA: depaThailand และเพจเฟซบุ๊ก depa Thailand