11 พ.ย. 2567 167 2

AOC 1441 เตือนภัย 'มิจฉาชีพ' หลอกลงทุนออนไลน์ – ชักชวนทำงานต่างประเทศ - ข่มขู่ค้ามนุษย์ สูญเงินกว่า 8 ล้านบาท

AOC 1441 เตือนภัย 'มิจฉาชีพ' หลอกลงทุนออนไลน์ – ชักชวนทำงานต่างประเทศ - ข่มขู่ค้ามนุษย์ สูญเงินกว่า 8 ล้านบาท

วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 4 – 10 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย


คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 5,486,777 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาเชิญชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทาง Facebook ตนสนใจจึงเพิ่มเพื่อน ทาง Line สอบถามรายละเอียด มิจฉาชีพแนะนำและสอนขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ การเทรดหุ้นแก่ตน ตนจึงโอนเงินเพื่อเทรดหุ้น ในช่วงแรกสามารถถอนเงินจากระบบได้ ตนจึงโอนเงินเพิ่มและเทรดหุ้นได้จำนวนมากขึ้นแต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าต้องโอนเงินเพิ่มอีกเพื่อเป็นค่าดำเนินการ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,587,872 บาท ผู้เสียหายพบโฆษณาทำงานหารายได้พิเศษผ่านช่องทาง Facebook เป็นการรีวิวสินค้าเสื้อผ้าเด็ก และมีการชักชวนให้ทำกิจกรรมระหว่างช่วงรอสินค้า โดยให้ตนโอนเงิน เพื่อซื้อสินค้าหลากหลายประเภท ในช่วงแรกได้รับค่าตอบแทนกลับมา ช่วงหลังมิจฉาชีพ ให้โอนเงินซื้อสินค้าด้วยราคาที่สูงขึ้น ตนหลงเชื่อโอนเงินเพิ่มแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 578,218 บาท ผู้เสียหายได้พบโฆษณาชักชวนทำงานต่างประเทศผ่านช่องทาง Facebook ตนสนใจ จึงเพิ่มเพื่อนทาง Line สอบถามรายละเอียด จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งให้ตนโอนเงินเพื่อเป็น ค่าดำเนินการ ค่าเอกสาร ค่าภาษี และค่าแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ตนหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ภายหลังตนได้นำข้อมูลในโฆษณาไปตรวจสอบกับบริษัทจัดหางาน พบว่าทางบริษัท โดนมิจฉาชีพนำชื่อบริษัทไปแอบอ้าง บริษัทจัดหางานแจ้งว่าไม่มีการโฆษณาเพื่อชักชวนคนไปทำงานต่างประเทศแต่อย่างใด ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 300,946 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ แจ้งว่ามีเด็กถูกรถชนบาดเจ็บสาหัส โดยมีชื่อผู้เสียหายเป็นคนนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาล มิจฉาชีพแจ้งว่าจะต้องลงชื่อยินยอม ให้ทำการผ่าตัดและเป็นผู้รับผิดชอบค่าผ่าตัดทั้งหมด จากนั้นได้โอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ อีกท่านอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรขอนแก่น แจ้งว่าจากการตรวจสอบประวัติพบว่ามีการค้ามนุษย์และฟอกเงินผิดกฎหมาย จึงขอตรวจสอบเส้นทางการเงิน ในบัญชี หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมาย ตนหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ภายหลังโอนเงินเสร็จเรียบร้อย ได้ติดต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อสอบถามข้อมูลเรื่องที่เกิดขึ้น จึงทราบว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 226,599 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง TikTok ชักชวนทำงานหารายได้พิเศษตนสนใจจึงทักข้อความไปสอบถาม มิจฉาชีพแจ้งว่าเป็นกิจกรรมส่งเสริมการขายและได้กำไร เป็นค่าคอมมิชชัน จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line ส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลแล้วแนะนำขั้นตอน การทำงานจากนั้นดึงเข้า Group Line โดยให้โอนเงินค่าสินค้าเข้าไปในระบบก่อนและ จะได้รับคืนภายหลัง ในระยะแรกได้ผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังให้ลงทุนราคาสินค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่ไหว ตนต้องการยกเลิก มิจฉาชีพอ้างว่าทำผิดกฎทางบริษัทจะต้องชำระค่าปรับและเสียค่าภาษีจำนวนสินค้าทั้งหมดก่อน ตนจึงเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 8,180,412 บาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,199,174 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,206 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 375,066 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,130 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 111,173 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 29.63 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 91,916 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.51 (3) หลอกลวงลงทุน  57,419 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 15.31 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 31,305 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.35  (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 29,363 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.83 (และคดีอื่นๆ 53,890 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.37) 

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการหลอกให้ลงทุนเพื่อหารายได้พิเศษ การโปรโมทสินค้า หรือพบโฆษณาหลอกลวงเชิญชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook ,Line และ TikTok ทั้งนี้ขอย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ และความปลอดภัย ต่อการถูกหลอกลวง ด้านกรณีการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงดังนั้นขอให้สอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล และทำการเพิ่มเพื่อนหรือดำเนินการใดๆ ในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างรอบคอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” วงศ์อะเคื้อ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) |  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com