12 พ.ย. 2567 264 2

ยกระดับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ดีป้า เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล)

ยกระดับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ดีป้า เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล)

ดีป้า ส่งเสริมเกษตรกรไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เดินหน้าเปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) ขับเคลื่อนการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันภาคการเกษตรสำหรับบันทึก จัดเก็บข้อมูล ติดตามย้อนกลับการเพาะปลูก สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงสู่ตลาดโลก พร้อมพัฒนาทักษะและศักยภาพเกษตรกรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะอย่างยั่งยืน




พรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) เปิดเผยว่า ตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของประเทศ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตระหนึกถึงความเดือดร้อนของประชาชนทั้งปัญหาหนี้สิ้น รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนและต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ


“กระทรวงดีอี ตอบรับนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการทันที เพื่อเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าหมาย ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตรและอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางเกษตรกรรม รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของตลาดโลก และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี


ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) ต้องการที่จะส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนทุเรียนประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อจดบันทึกข้อมูลติดตามย้อนกลับการเพาะปลูกทุเรียนมากกว่า 6,000 ราย ภายในระยะเวลาถึง 2 ปี เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเป็น Big Data ด้านการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียน พร้อมเพิ่มองค์ความรู้ด้าน E-commerce และการยื่นขอรับรองมาตรฐานข้อกำหนดของการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) แก่เกษตรกรมากกว่า 12,000 รายในพื้นที่ 23 จังหวัด พร้อมสนับสนุนให้เกิดแพลตฟอร์มกลางเพื่อการเกษตร (National Agriculture Platform) ของประเทศ ทั้งนี้ แพลตฟอร์มที่นำมาใช้ได้รับการพัฒนาโดยดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่ผ่านการขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัล และได้รับตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐาน dSURE





สำหรับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในทุกช่องทางการสื่อสารของ ดีป้า ไม่ว่าจะเป็น Facebook Page: depa Thailand และ Line OA: depathailand โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ร่วมกันยกระดับภาคเกษตรกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มคุณค่าผลผลิตทุเรียนไทยให้มีมาตรฐาน ปลอดภัยต่อการบริโภคตามหลักสากล