13 พ.ย. 2567 143 0

ปิดฉากการแข่งขัน AI Thailand Hackathon 2024

ปิดฉากการแข่งขัน AI Thailand Hackathon 2024

ปิดฉากการแข่งขัน AI Thailand Hackathon 2024 เวทีการพัฒนากำลังคน AI ที่ เนคเทค สวทช. จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้งาน AI สัญชาติไทย สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีศักยภาพใช้งานได้จริง การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง ได้แก่ “AI Cooking” การแข่งขันสร้างสรรค์แอปพลิเคชัน AI โดยมีวัตถุดิบหลักเป็นคลังข้อมูล (Corpus) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และ “AI for Thai API on Shelf” การพัฒนาแอปพลิเคชัน AI โดยใช้ API และบริการจากแพลตฟอร์ม AI for Thai จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2567 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย จ.ปทุมธานี


ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า การแข่งขัน AI Thailand Hackathon 2024 ตอบโจทย์แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนานวัตกรรม AI ในประเทศ โดยในครั้งนี้ AI Thailand Hackathon 2024: AI for Thai API on Shelf เป็นการฉายภาพระบบนิเวศของแพลตฟอร์มให้บริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย หรือ  AI for Thai ที่เนคเทค สวทช. มุ่งมั่นพัฒนาและส่งมอบให้เป็นเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ของประเทศ เพื่อให้บริการเครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น APIs, Corpus ให้นักพัฒนาสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดไปใช้งานได้ ซึ่งเวทีนี้เปรียบผู้เข้าแข่งขันเป็นนักพัฒนาช่วยสร้างระบบนิเวศดังกล่าว ปัจจุบัน AI for Thai มีบริการ API มากกว่า 60 รายการครอบคลุมหลากหลายด้าน ทั้งการประมวลผลภาพ เสียง และข้อความ และพร้อมเปิดตัว API ใหม่กว่า 20 รายการเพื่อให้ทุกท่านได้หยิบมาใช้ในการแข่งขันครังนี้ ถือเป็นการยกระดับเครื่องมือ AI ให้ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในภาคธุรกิจและการพัฒนานวัตกรรมแบบสาธารณะประโยชน์ที่มีก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมไทย รวมถึงตอบโจทย์แผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติทั้งในด้านการพัฒนากำลังคน AI การสนับสนุนให้เกิดการใช้งาน AI และการสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ในประเทศ ซึ่งแพลตฟอร์ม AI for Thai ยังเป็นหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI บนแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติอีกด้วย

สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 28 ทีม จาก 86 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จะต้องพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือ บริการอย่างอิสระ โดยเน้นใช้ API บนแพลตฟอร์ม AI for Thai เป็นหลักในการพัฒนา และวัดผลผู้ชนะที่ผลกระทบของแอปพลิเคชัน หรือ บริการ รวมถึงรายละเอียดเชิงเทคนิค และความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกใช้ API มาบูรณาการให้ตอบโจทย์และถูกใจกรรมการในระยะเวลาที่จำกัดเพียง 36 ชั่วโมง เพื่อคว้าเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท ซึ่งสนับสนุนโดย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)  บริษัท Siam AI Cloud และ บริษัท อัลทอส คอมพิวติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด  


ดร.กริช นาสิงขันธุ์ หัวหน้างานยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (LTSS) เนคเทค สวทช. กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือ บริการ อย่างอิสระ โดยต่อยอดใช้งาน API จาก AI for Thai เป็นหลัก คณะกรรมการจะพิจารณาผลกระทบของโครงการ การประยุกต์ใช้จริงได้ การดำเนินการทางเทคนิคในการบูรณาการเครื่องมือ API ต่าง ๆ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา โดยวัตถุดิบที่เป็นไฮไลท์ของการแข่งขันในครั้งนี้ คือ Pathumma LLM' โมเดล AI ที่ได้รับการ Instruction Fine-Tune บน OpenThaiLLM-Prebuilt ซึ่งรองรับการประมวลผลภาษาไทยและภาษาจีน เพื่อเพิ่มความสามารถให้ครอบคลุมงานด้าน ข้อความ เสียง และภาพ รองรับงานหลากหลายรูปแบบ รวมถึง whitelists บริการที่มีแผนให้บริการบน AI for Thai ให้ผู้เข้าแข่งขันได้ทดลองใช้งานก่อนใคร ได้แก่ Longdo Map API บริการแผนที่ออนไลน์สำหรับใช้งานบนเว็บแอปพลิเคชัน  BOTNOI VOICE API บริการแปลงข้อความให้เป็นคำพูดที่เหมือนจริงได้อย่างง่ายดาย มีหลายภาษาให้เลือกใช้มากกว่า 10+ ภาษา เป็นต้น ทั้งนี้ระหว่างการแข่งขัน ทีมนักวิจัยจากกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. ยังได้เปิด Hackathon Clinic ให้คำปรึกษาทุกทีมใน 3 ด้าน ทั้งด้านการพัฒนานวัตกรรม ด้านกลยุทธ์เชิงธุรกิจ และด้านการนำเสนอผลงานแก่คณะกรรมการอีกด้วย

ผลการแข่งขัน AI Thailand Hackathon 2024 EP2 AI for Thai API on Shelf

รางวัลชนะเลิศ รางวัลมูลค่า 100,000 บาท

ทีม 105 Lab

สมาชิก ชินพงศ์ อังสุโชติเมธี ธรรมสรณ์ นาควงศ์ และ ธนกร อภิวันท์ภักดี

OMNI AGENT SDK พัฒนาแพลตฟอร์มตัวช่วยในการพัฒนาแชทบอทบนเว็บแบบ 3D Visual ให้ใช้งานง่าย Low code สามารถปรับแต่งการตอบของแชทบอตได้ตามใจ ช่วยเพิ่มมูลค่าของงาน OMNI AGENT บนเว็บได้


รองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลมูลค่า 70,000 บาท

ทีม Outlier

สมาชิก กษิดิ์เดช อิ้วศรีสกุล และ ศักดิ์โชติ เข็มราช

แอป “สร้าง สอบ” ช่วยลดภาระการสร้างข้อสอบด้วยเทคโนโลยี NLP ที่ครอบคลุมหลายขั้นตอน ตั้งแต่ Text Cleansing และ Text Summarize) ไปจนถึงการสร้างข้อสอบอัตโนมัติ พร้อมปรับระดับความง่าย-ยากได้ตามต้องการ ช่วยย่นระยะเวลาการเตรียมข้อสอบจากหลายเดือนเหลือเพียงไม่กี่นาที เพียงแค่อัปโหลดไฟล์ PDF ระบบจะทำการประมวลผลข้อความด้วย NLP ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการสร้างข้อสอบโดยใช้ GPT


รองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลมูลค่า 40,000 บาท

ทีม เชฟตัวจริง

สมาชิก ณัชชา เงาประเสริฐวงศ์ ฐปนวัฒน์ สุริยาโรจน์ และ จิดาภา โพธลักษณ์

”น้องจริงใจ“ เป็นไลน์แชทบอทช่วยยืนยันความถูกต้องของข้อมูล จะช่วยตรวจสอบว่าข้อมูลอ้างอิงแหล่งที่มาที่มีอยู่จริงไหม, แหล่งอ้างอิงน่าเชื่อถือหรือไม่, ข้อมูลที่ถูกหยิบยกมาถูกบิดเบือนหรือไม่ โดยใช้เทคโนโลยี LLM เป็นหลักเพื่อหา Keyword ในการ Web scraping, เปรียบเทียบข้อมูลกับแหล่งข้อมูลอื่นๆที่หามาได้ และสรุปเป็นผลลัพท์ที่เข้าใจง่ายให้กับผู้ใช้ น้องจริงใจไลน์บอทสามารถสร้างความสะดวกสบายในการตรวจสอบข้อมูลในอินเตอร์เนต เป็นการเพิ่มความตระหนักรู้ในการเสพสื่อ และสามารถลดการเผยแพร่ข้อมูลปลอมได้ในที่สุด


รองชนะเลิศอันดับ 3 รางวัลมูลค่า 25,000 บาท

ทีม Allez Cuisine

สมาชิก ธิรวริทธิ์ ปิติพิพัฒน์ จัตุรงค์ ยิ่งเมือง และ อานนท์ แซ่อึ่ง

edulytics แอปพลิเคชันที่ช่วยแก้ปัญหานักเรียนไม่กล้าถามในห้องเรียน ด้วยระบบปุ่มกดแจ้งข้อสงสัยระหว่างเรียน พร้อมฟีเจอร์ครบครันทั้ง Lecture Summarizer สรุปเนื้อหาและคำถามน่าสนใจ, Teaching Performance Report วิเคราะห์จุดที่ต้องปรับปรุงการสอน และ Learning Assistant ตอบข้อสงสัยรายบุคคลผ่าน chatbot ใช้เทคโนโลยี Pathumma แปลงเสียงเป็นข้อความและสรุปเนื้อหาอัตโนมัติ พร้อมฟังก์ชันแปลงกลับเป็นเสียงด้วย API จาก botnoi


รองชนะเลิศอันดับ 4       รางวัลมูลค่า 15,000 บาท

ทีม นั่งจุ๊ย

สมาชิก  เนตรนภา สิทธิหาโคตร พงษ์พัฒน์ พัวอุดมเจริญ และ ทินภัทร ดีเดช

Home Link” platform เพื่อสังคมสูงที่ก้าวสู่ยุค Super Aged Society ช่วยให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตอย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น ด้วย 4 feature เด่น: (1) Smart Speaker: สั่งการด้วยเสียงผ่าน AI (Pathumma Audio, Pathumma LLM และ Vaja9) เพื่อการสื่อสารและรับบริการที่ง่ายและสะดวก (2) Hospital Location Finder: ค้นหาโรงพยาบาลใกล้บ้านผ่าน API LongdoNearby POI ช่วยอุ่นใจยามฉุกเฉิน (3) CCTV Human Capture: ตรวจจับใบหน้าและเลื่อนกล้องอัตโนมัติ ผ่าน API Face Detection  เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้สูงวัย (4) CCTV Fall Detection: ตรวจจับการหกล้มผ่าน API Fall Detection  แจ้งเตือนทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แพลตฟอร์มนี้ช่วยให้ครอบครัวดูแลผู้สูงวัยอย่างใกล้ชิดผ่านการแจ้งเตือนฉุกเฉินและการเฝ้าระวังเรียลไทม์บน Line และแอปพลิเคชัน ให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตอย่างอิสระและครอบครัวอุ่นใจ

นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 10 รางวัล มูลค่า 5,000 บาท สำหรับผลงานที่โดดเด่นได้แก่ ทีมสุรโฮ่ง , ทีม 009_final_finalที่สุดแล้ว, ทีมจารย์นุชสั่งลุย V2 , ทีม bigLITTLE , ทีม Doctor เฉพาะกิจ , ทีม Salt and Pepper , ทีม Miau , ทีม รับ 500 บาท , ทีมแฮรี่ไปไหน และ ทีม KHAI TOM