20 พ.ย. 2567 123 0

Bangkok Ride & Run 2024 ปั่น-วิ่งต้านเบาหวาน ดึงนักปั่นระดับโลกทีม Novo Nordisk ร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่อยู่ร่วมกับโรคเบาหวาน

Bangkok Ride & Run 2024 ปั่น-วิ่งต้านเบาหวาน ดึงนักปั่นระดับโลกทีม Novo Nordisk ร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่อยู่ร่วมกับโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งในปี 2564 มีผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเบาหวานทั่วโลกถึง 537 ล้านคน และคาดว่าในปี 2573 จำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน โรคเบาหวานส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตถึง 6.7 ล้านราย หรือเท่ากับทุกๆ 5 วินาทีจะมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (The International Diabetes Federation, IDF) ยังคาดการณ์ว่าในปี 2583 ประเทศไทยอาจมีผู้ที่อยู่ร่วมกับโรคเบาหวานถึง 5.3 ล้านคน โดยโรคนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่ออื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตเรื้อรัง ฯลฯ


เนื่องในโอกาสวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ประจำปี 2567 สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย รวมถึง บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานปั่นจักรยานและวิ่งมาราธอนสุดยิ่งใหญ่ 'Bangkok Ride & Run 2024 สุขกาย สุขใจ โลกสดใส ใส่ใจเบาหวาน' และเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานในมิติที่หลากหลาย เพื่อให้โอกาสผู้ที่อยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้ร่วมกันเป็นกระบอกเสียง เรียกร้องนโยบายการดูแลและจัดการโรคเบาหวานที่ดียิ่งขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ แดนนี แอนนัน เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ร่วมในพิธีเปิดงานและร่วมวิ่ง-ปั่นจักรยาน ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร



ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยว่า ในผู้ใหญ่ 100 คน จะเจอคนเป็นเบาหวาน 10 คน แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ 1 ใน 3 ยังไม่รู้ว่าตนป่วยเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากไม่แสดงอาการ บางคนมีค่าน้ำตาลสูงถึง 120 – 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่ก็ยังไม่มีอาการ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรอง เบื้องต้นจะประเมินความเสี่ยงจากภาวะอ้วน รวมถึงผู้มีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวาน และรณรงค์ให้ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็คเบาหวานและคุมน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ในกรณีที่ตรวจเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้า ค่าน้ำตาลในเลือดปกติคือ 70 – 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่ถ้าเริ่มขึ้นหลัก 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เรียกว่าภาวะก่อนเบาหวาน แต่หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป จะเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน

ด้าน รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวเสริมว่าผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ทั้งโรคความดันในเลือดสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคหัวใจและหลอดเลือด ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบทำให้ตาบอด ฟันเสียง่าย เส้นเลือดสมองตีบ จนทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม รวมอีกหลายโรคที่มองไม่เห็น โดยผู้ที่อายุน้อยหรือวัยทำงานยังเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนและรุนแรงกว่าเดิมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะมาควบคู่กับโรคอ้วน สำหรับงานครั้งนี้สอดคล้องกับแนวคิดของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติที่ต้องการสื่อสารมุมมองใหม่ว่า ‘เบาหวานไม่ใช่โรค’ ผู้ที่มีภาวะเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มุ่งเน้นการเปลี่ยนมุมมองและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเบาหวาน


รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงบทบาทของเมืองในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนการเกิดโรค เน้นการสร้างพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย ทั้งการปรับปรุงทางเท้า เลนจักรยาน และสวนสาธารณะในชุมชน ระยะกลาง มุ่งเน้นการตรวจคัดกรองสุขภาพ เนื่องจากเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญของโรค NCDs อื่นๆ และระยะสุดท้าย สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน พัฒนาระบบส่งต่อการรักษาระหว่างศูนย์บริการชุมชนและโรงพยาบาล พร้อมทั้งฝึกอบรมอาสาสมัครให้มีความรู้ในการสังเกตอาการผู้ป่วยเพื่อการเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว


เอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์เบาหวานเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เพราะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสร้างภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว พร้อมระบุว่า ‘เราเชื่อว่าทุกคนสามารถมีชีวิตที่ปกติและสุขภาพดีได้ เมื่อได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม’ โดยโนโว นอร์ดิสค์ ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในโครงการ Affordability ในระยะ 3 ปี เน้นการสร้างความตระหนักโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันเทคโนโลยีและนวัตกรรมการรักษาที่ทันสมัย ผ่านการดำเนินวิจัยคลินิกร่วมกันเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ที่เป็นเบาหวานของไทยสามารถตอบสนองความต้องการให้ได้ตรงจุด และเชื่อว่าการผลักดันให้คนมีสุขภาพที่ดีนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัทฯ เช่นกัน



การจัดงาน ‘Bangkok Ride & Run 2024 สุขกาย สุขใจ โลกสดใส ใส่ใจเบาหวาน’ ในครั้งนี้ ไม่ได้เพียงแต่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน แต่ยังเน้นการสนับสนุนวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีและการดูแลผู้ที่อยู่ร่วมกับโรคเบาหวาน โดยเชิญ แซม แบรนด์ นักปั่นจักรยานมืออาชีพทีม Novo Nordisk ซึ่งอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แบ่งปันมุมมองเชิงบวกว่า การเป็นเบาหวานสอนให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีแบบแผนและมีวินัย ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นนักกีฬามืออาชีพ และอยากให้ความหวังกับผู้ที่อยู่ในสถานะเดียวกัน ด้าน น.ส.มาเลน่า วิลสัน ผู้นำเยาวชนจากสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ ตัวแทน IDF Young Leader เน้นย้ำความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในการสร้างความตระหนักทางออนไลน์ และการสนับสนุนจากชุมชนที่จะช่วยให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับโรคเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ได้รับโอกาสทางการศึกษา การทำงาน และการใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพโดยไม่ตีตราเยาวชนผู้เป็นเบาหวาน


ภายในงานมีการจัดเสวนาอีกมากมาย อาทิ หัวข้อ "สุขภาพดี 360 องศา: ครอบคลุมทุกมิติ กาย ใจ และสังคม" โดยมีวิทยากรได้แก่ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อุปการ จีระพันธุ เลขานุการชมรมเบาหวาน รพ.จุฬาฯ อดีตผู้ช่วยอำนวยการ สสวท. ดำเนินรายการโดย รศ.นพ. เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้เน้นย้ำความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และการดูแลผู้ที่เป็นเบาหวานแบบองค์รวม  เช่น เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย การเข้าถึงอาหารที่สุขภาพดี ลดโซเดียม ลดน้ำตาล และยังคงความอร่อย การยกระดับมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วยอย่างทั่วถึง เน้นการดูแลแบบองค์รวม โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาประเด็นการดูแลสุขภาพจิตใจของผู้เป็นเบาหวานในช่วงวัยต่างๆ โดยผู้นำชุมชนผู้เป็นเบาหวาน กัญจรีย์ ศุภวิทยา พศิน นิ่มนวล นันท์นภัส สุทธิพงศ์เกียรติ์ สุวีร์ ซัจเดว และ ศุภลักษณ์ จตุเทวประสิทธิ์



ปิดท้ายด้วยเสวนาหัวข้อ "ชุมชนคนเบาหวาน: แบ่งปันความรู้และกำลังใจ" โดย วิสูตร ปรีชาธรรมรัช รองประธานชมรมเพื่อเด็กและวัยรุ่นเบาหวาน โรงพยาบาลศิริราช นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กทม. ชนาทิพย์ มารมย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย ศ.พญ. ธนินี สหกิจรุ่งเรือง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กรรมการบริหารสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมแบ่งปันความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเบาหวาน และการขับเคลื่อนโครงการมิตรภาพบำบัด รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เกิดแนวทางการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน