2 ธ.ค. 2567 342 31

ไทยได้รับเกียรติเป็นประธานคณะมนตรีองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ APSCO

ไทยได้รับเกียรติเป็นประธานคณะมนตรีองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ APSCO

เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยว่าได้รับเกียรติเป็นประธานคณะมนตรีองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO) และได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีฯ ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 27 – 29 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี พรพรรณ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะมนตรีองค์การ APSCO เข้าร่วมการประชุม


เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ปฏิบัติหน้าที่ ประธานคณะมนตรีองค์การ APSCO ในนามประเทศไทย ทั้งนี้ คณะมนตรีองค์การ APSCO เป็นกลไกการระดับบริหารสูงสุดของ APSCO  เพื่อกำหนดทิศทาง กลยุทธ์การดำเนินงาน และพิจารณาการดำเนินงานที่สำคัญขององค์การ APSCO โดยประเทศไทยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ในปี ค.ศ. 2024 – 2025 


ซึ่งในครั้งนี้ เวทางค์ได้กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน เพื่อเป็นพันธมิตรสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านอวกาศ ภายใต้กรอบความร่วมมือองค์การ APSCO รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านอวกาศของรัฐสมาชิก ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมในหลักสูตรเฉพาะทางผ่านกลไก APSCO Education and Training Center ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ อาทิ เทคโนโลยี AI และ Machine Learning มาประยุกต์ในการยกระดับการบริการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมผ่านแพลตฟอร์ม APSCO Data Sharing Service Platform (DSSP)


เวทางค์ กล่าวเพิ่มว่า การประชุมในครั้งนี้ มีวาระการพิจารณาที่สำคัญ อาทิ การทบทวนการกำหนดอัตราค่าบำรุงสมาชิกของรัฐสมาชิก การทบทวนแผนปฏิบัติการโครงการขององค์การ APSCO การพิจารณาให้ความเห็นชอบ Roadmap ความร่วมมือภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station : ILRS) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การ APSCO กับองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) การพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อกำหนดการดำเนินการตามกลไก APSCO Charter เพื่อการรับมือกับภัยพิบัติ โดยอาศัยข้อมูลจาก DSSP การพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการการประยุกต์ใช้ข้อมูลจาก DSSP ระยะที่ 2 การพิจารณาการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับองค์การระหว่างประเทศและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของรัฐสมาชิก การพิจารณางบประมาณ ประจำปี ค.ศ. 2025 




นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีองค์การ APSCO ครั้งที่ 19 พร้อมด้วยการประชุมสัมมนา APSCO Leadership Development Forum (LDF) ระหว่างวันที่ 1 – 5 ธันวาคม 2568 และพิจารณามอบหมายให้ นายมานพ อ้อพิมาย ผู้อำนวยการแผนก Program Operation and Data Service ปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการองค์การ APSCO แทนเลขาธิการคนเดิมที่ลาออก และกำหนดจัดการประชุมคณะมนตรีองค์การ APSCO สมัยพิเศษ (The Extraordinary Meeting of APSCO) เพื่อคัดเลือกเลขาธิการองค์การ APSCO คนใหม่ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน


ในช่วงระหว่างการประชุม เวทางค์ ได้หารือทวิภาคีร่วมกับ Mr. Bian Zhigang รองผู้อำนวยการองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ในประเด็นความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งในการส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม รวมถึงการสำรวจดวงจันทร์ผ่านโครงการ Chang’e และโครงการสำรวจอวกาศของจีนอีกด้วย

“การปฏิบัติหน้าที่ ประธานคณะมนตรีองค์การ APSCO ของประเทศไทย นอกจากเป็นโอกาสในการแสดงภาวะผู้นำของประเทศไทยในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอวกาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว ยังเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอวกาศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านอวกาศ และสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างอวกาศร่วม อาทิ การพัฒนาดาวเทียม การสำรวจอวกาศ และการใช้ข้อมูลจากอวกาศเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป” เวทางค์กล่าว