5 ธ.ค. 2567 165 0

ดีอี โชว์ผลงาน ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ผิดกฎหมายแล้วกว่า 1.78 แสนรายการ

ดีอี โชว์ผลงาน ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ผิดกฎหมายแล้วกว่า 1.78 แสนรายการ

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เผยถึง ผลการเร่งรัดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ URLs ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อเป็นการตัดวงจรช่องทางการก่ออาชญากรรมที่สำคัญของขบวนการมิจฉาชีพ ในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 – พ.ย. 2567 (14 เดือน) ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ URLs ผิดกฎหมายแล้ว 178,609 รายการ หรือ เฉลี่ย 12,757 รายการต่อเดือน เพิ่มขึ้น 8.6 เท่าตัว จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่ ต.ค. 2565 – ก.ย. 2566 (12 เดือน) ที่ปิดกั้น 17,670 รายการ หรือ เฉลี่ย 1,472 รายการต่อเดือน

สำหรับสถิติตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2567 ทุกเดือนนั้น เนื่องจากการปรับกระบวนการทำงานให้มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งการดำเนินการกับเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่มีลักษณะหลอกลงทุนเป็นการกระทำความผิดที่เข้าข่าย ตามมาตรา 14 (1) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ  โดยกระทรวงดีอี มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายในการระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับแจ้งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้เสียหาย พร้อมนำส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง กับเว็บไซต์ที่เข้าข่ายเป็นความผิด 

หรือในกรณีที่กระทรวงดีอี ทำการตรวจสอบและพบเว็บไซต์ดังกล่าวเอง ในขั้นตอนนี้ กระทรวงฯ จะต้องทำการตรวจสอบ เก็บหลักฐานและรวบรวม URLs เสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ได้ทำการตรวจสอบ เพื่อใช้เป็นพยาน หลักฐานประกอบการยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งระงับ / ปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูล (หลอกลงทุน) โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ขณะที่เมื่อศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นแล้ว กระทรวงฯ จะแจ้งคำสั่งศาลไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต สำนักงาน กสทช. และแพลตฟอร์ม เพื่อดำเนินการระงับ / ปิดกั้นเว็บไซต์ต่อไป ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 – 3 วัน 

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ได้มีกระบวนการตรวจสอบติดตามการระงับ / ปิดกั้นเว็บไซต์ ภายหลังจากการแจ้งคำสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และแพลตฟอร์มทราบด้วย เพื่อให้การปิดกั้นเว็บไซต์เป็นไปตามคำสั่งศาล กรณีที่ยังพบเว็บไซต์บางรายการที่ยังไม่ปิดกั้น / ระงับการเผยแพร่ ภายหลังกระทรวงดีอีได้แจ้งคำสั่งศาลให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มทราบแล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งหากพบการฝ่าฝืนดังกล่าว กระทรวงฯ จะนำผลการตรวจสอบการไม่ระงับ / ไม่ปิดกั้นเว็บไซต์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มด้วยระบบการจัดเก็บทางคอมพิวเตอร์ ไปทำการปรับพินัยฐานไม่ปิด “เว็บผิดกฎหมาย” 

ปัจจุบันกระทรวงดีอีได้มีคำสั่งแจ้งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในแต่ละคราวของคำสั่งศาลที่ไม่ระงับ / ไม่ปิดกั้นเว็บไซต์ เป็นการปรับตามคำสั่งศาล และสั่งปรับรายวัน โดยมีคำสั่งปรับเป็นพินัยกว่า 21 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้พนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาล เหตุไม่ชำระค่าปรับตามคำสั่งศาล   

อย่างไรก็ตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าว กระทรวงฯ ได้ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น เว้นแต่เฉพาะในขั้นตอนการตรวจสอบพยานหลักฐาน ที่ยังมีความจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากพยาน หลักฐานต้องมีองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับข้อมูลเว็บไซต์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอยู่แล้วนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดไปพร้อมกัน 

“ในส่วนกรณีของหมอบุญ ซึ่งเป็นการหลอกให้ร่วมลงทุน สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการออกสื่อ การให้สัมภาษณ์  และให้โบรกเกอร์แจ้งระดมทุนผ่านบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อ้างการระดมทุนจะให้ค่าตอบแทนมากกว่าสถาบันการเงินนั้น อยู่ในอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการตรวจสอบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดี โดยการปิดกั้นเว็บไซต์ในลักษณะหลอกลงทุนที่มีลักษณะเช่นนี้ ภายหลังจากการรับแจ้งความและดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนแล้ว กระทรวงดีอี ได้ประสานพนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณานำส่งพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าวโดยทันทีด้วยเช่นกัน” รองนายกฯ ประเสริฐ กล่าว