13 ธ.ค. 2567 323 10

รองนายกฯ ประเสริฐ เผยเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2567 ดันศก.ไทย Digital GDP ขยายตัว ร้อยละ 5.7 คิดเป็น 2.2 เท่า ส่งออกดิจิทัลขยายตัวด้วยร้อยละ 17.2

รองนายกฯ ประเสริฐ เผยเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2567 ดันศก.ไทย Digital GDP ขยายตัว ร้อยละ 5.7 คิดเป็น  2.2 เท่า ส่งออกดิจิทัลขยายตัวด้วยร้อยละ 17.2

รองนายกฯ ประเสริฐ เผย ปี 2567 เศรษฐกิจดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดย Digital GDP ขยายตัว ร้อยละ 5.7 คิดเป็น  2.2 เท่า ของ GDP โดยรวม และการส่งออกดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 17.2 คิดเป็น 2.8 เท่า ของการส่งออกโดยรวม


วันที่ 13 ธันวาคม 2567 ในงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่การดำเนินโครงการฯ เรื่อง Thailand Digital Economy 2024 ณ ห้องแมจิก 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เผยแพร่ ตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2567 ที่พบว่า ปี 2567 เศรษฐกิจดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดย Broad Digital GDP (ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) ประมาณการว่าขยายตัว 5.7 คิดเป็น  2.2 เท่า ของ GDP โดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 (สศช. ประมาณการ) ในด้านการค้าต่างประเทศ คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล (ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) จะขยายตัวร้อยละ 17.2 คิดเป็น 2.8 เท่า ของการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 (สศช. ประมาณการ) 



รองนายกฯ ประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลก่อนหน้าและรัฐบาลนายกแพทองธาร รวมทั้งตนให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านดิจิทัล รวมทั้งเร่งผลักดันภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ได้มีการส่งเสริมการลงทุนเรื่อง cloud services และ data centers ตลอดจนการลงทุนที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัล เชื่อว่าส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวอย่างดี ในปี 2567 สูงกว่าเศรษฐกิจโดยรวม กว่า 2 เท่าตัว”



เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการดีอี ได้สรุปประมาณการเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญ ในปี 2567 ดังนี้

1. เศรษฐกิจโดยรวม 

Broad Digital GDP (CVM) มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลแบบกว้าง มีมูลค่า 4.44 ล้านล้านบาท มีการขยายตัวร้อยละ 5.7 จากปี 2566 และคิดเป็นการขยายตัว 2.2 เท่า ของการขยายตัวของ GDP โดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการ) แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโต

การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัล (ราคาที่แท้จริง)

หน่วย ร้อยละ


 ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE)

2. ด้านการลงทุน 

การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชน (CVM) มีการขยายตัวร้อยละ 2.8 จากปี 2566 ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 จากปี 2566 ปัจจัยสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ที่ขยายตัวจากฐานที่ติดลบในปีก่อนหน้า 

หน่วย ร้อยละ


 

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE)

3. ด้านการบริโภค 

การบริโภคภาคเอกชนในอุตสาหกรรมดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 5.6 สูงกว่าการขยายตัวของการบริโภคของประเทศที่เท่ากับร้อยละ 4.8 สำหรับการบริโภคภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.4 จากการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สินค้าดิจิทัลเป็นสินค้าที่มีความต้องารบริโภคในระดับสูงทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

หน่วย ร้อยละ


ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE)

4. ภาคการค้าและบริการ

ในปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการอุตสาหกรรมดิจิทัล ขยายตัวร้อยละ 17.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.1 จากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปีที่ผ่านมา

ในด้านการนำเข้าสินค้าและบริการดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 9.0 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศ

อุตสาหกรรมดิจิทัล จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการสร้างเม็ดเงินจากเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยยังคงพึ่งพาสินค้าดิจิทัลทั้งที่เป็นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นสุดท้าย ตลอดจนสื่อดิจิทัลคอนเทนต์จากต่างประเทศ จึงทำให้เมื่อการส่งออกสินค้าขยายตัวจะมีผลทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

หน่วย ร้อยละ


 ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE)

5. ภาคการผลิต

ในปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 5.71 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.75 ตามการขยายตัวของการผลิตในทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (+12.64%) และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (+10.00%) ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ที่มาของการเติบโต (Source of growth) พบว่า เกือบร้อยละ 80 ของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัลเป็นผลจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (+1.90%) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (+1.36%) และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ (+1.27%) ตามลำดับ 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมหมวดโทรคมนาคมมีผลต่อการเติบโตโดยรวมสูงเกือบ 1 ใน 3 ของการขยายตัวทั้งหมด โดยกิจกรรมการผลิตที่ขยายตัวสูงในปีนี้ ได้แก่ การผลิตเคเบิลเส้นใยนำแสง การขายส่งและการขายปลีกโทรศัพท์ และอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม

หน่วย ร้อยละ

การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัล (ราคาที่แท้จริง) และที่มาของการเติบโต


ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (BDE)


เวทางค์กล่าวเพิ่มว่า ”เศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2567 ขยายตัวได้ดี และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยการลงทุนและการบริโคภาครัฐด้านดิจิทัล รวมทั้งการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล เป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชนยังไม่ขยายตัว และเชื่อว่าในปี 2568 และ 2569 การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชน จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างแน่นอน”







COMMENTS