วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 9 – 15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 5,000,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนลงทุนเทรดหุ้นสกุลเงินต่างประเทศ ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line สอบถามรายละเอียด จากนั้นมิจฉาชีพแนะนำให้ติดตั้งแอปพลิเคชันและโอนเงินเพื่อทำการเทรดหุ้น แจ้งว่าจะได้ผลตอบแทนจำนวนมาก ช่วงแรกได้ผลตอบแทนและสามารถถอนเงินได้จริง ต่อมามีการดึงเข้า Group Line ให้ลงทุนโอนเงินเข้าไปในบัญชีแจ้งว่าจะนำเงินไปลงทุนให้เมื่อได้ผลตอบแทนจะทำการโอนเงินคืน ภายหลังผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่มิจฉาชีพแจ้งว่าต้องเสียค่าภาษีและค่าคอมมิชชัน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 2,894,677 บาท โดยผู้เสียหายได้รับข้อความ SMS จากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งว่าได้รับค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืน จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line และให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อยืนยันสิทธิ์ ต่อมาให้ผู้เสียหายสแกน QR Code และทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำ เมื่อทำตามขั้นตอนเสร็จผู้เสียหายได้รับข้อความ SMS จากธนาคารแจ้งว่า ยอดเงินในบัญชีได้ถูกโอนออกไปจนหมด ผู้เสียหายพยายามติดต่อมิจฉาชีพแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 434,474 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมการ จัดหางาน แจ้งว่าผู้เสียหายได้รับงานเป็นการขายสินค้าทางออนไลน์โดยมีค่าคอมมิชชันเป็นการตอบแทน ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนผ่านทาง Line มีการส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนตัวและแนะนำขั้นตอนการทำงาน จากนั้นดึงเข้า Group Line แจ้งว่าในระยะแรกจะเป็นช่วงทดลองงานให้โอนเงินค่าสินค้าเข้าไปในระบบก่อนและจะได้รับคืน ภายหลังเมื่อทดลองงานผ่านเเล้วมิจฉาชีพได้แจ้งให้ลงทุนราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้นจนผู้เสียหายไม่ไหวและต้องการยกเลิกภารกิจ มิจฉาชีพแจ้งว่าต้องชำระค่าปรับเนื่องจากทำผิดกฎบริษัท ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 300,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Tiktok ใช้โพรไฟล์เป็นชายหนุ่มหน้าตาดี อยากมีเพื่อนคุยและอยากทำความรู้จักกับผู้เสียหาย จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line พูดคุยกันจนสนิทใจ ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่ากำลังเดือดร้อนเนื่องจากมีอาการป่วยรุนแรงต้องใช้เงินจำนวนมาก ขอยืมเงินเพื่อรักษาตัวแล้วจะเดินทางมาหาผู้เสียหายหลังจากอาการป่วยดีขึ้นเเล้ว ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป หลังจากโอนเงินไปไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน มูลค่าความเสียหาย 340,000 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นพี่ชาย ให้บันทึกเบอร์โทรศัพท์ใหม่เก็บไว้แจ้งว่ากำลังจะจัดงานมงคลสมรส ขอยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายภายในงานและจะคืนเงินให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป จากนั้นพยายามติดต่อกลับแต่ไม่ สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายรู้สึกผิดปกติจึงได้โทรกลับไปที่เบอร์โทรศัพท์เก่าของพี่ชาย จึงทราบว่าพี่ชายไม่ได้เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 8,969,151 บาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 13 ธันวาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,292,883 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,161 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 425,830 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,160 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 127,665 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 29.98 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 103,450 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.29 (3) หลอกลวงลงทุน 63,318 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.87 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 37,672 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.85 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 32,880 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.72 (และคดีอื่นๆ 60,845 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.29)
จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการหลอกให้ลงทุน หรือหารายได้พิเศษ โดยเป็นการหลอกให้ลงทุนเทรดหุ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook และ Line ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการให้ข้อมูลส่วนบุคคล เพิ่มเพื่อนหรือดำเนินการใดๆ ในโซเชียลมีเดีย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการหลอกลวงเพื่อรับเงินคืนของหน่วยงานรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นขบวนการมิจฉาชีพ เนื่องจากโดยปกติเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ จะไม่ติดต่อหาประชาชนผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียโดยตรง ซึ่งหากได้รับการติดต่อดังกล่าว ขออให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ โดยไม่ควรแจ้งข้อมูลส่วนบุคคล หรือเลขบัญชีธนาคารโดยเด็ดขาด ควรตรวจสอบรายละเอียดให้แน่ชัด และติดต่อผ่านหน่วยงานนั้นๆโดยตรง
“ในส่วนของการที่มิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำการถูกข่มขู่ ควรติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) | Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com