วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 16 – 22 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 10,696,232 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนลงทุนเทรดหุ้น ผู้เสียหายสนใจและเพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นถูกดึงเข้า Group Line มิจฉาชีพส่งลิงก์เว็บไซต์สำหรับการลงทุนเทรดหุ้นและแนะนำขั้นตอนต่างๆ ต่อมาให้โอนเงินเพื่อทำการเทรดหุ้น ในครั้งแรกจะยังไม่ได้รับผลตอบแทน มิจฉาชีพแจ้งให้โอนเงินเทรดหุ้นเพิ่มมากขึ้นและจะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากในภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปจำนวนมากขึ้น ต่อมาผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ จึงนำลิงก์เว็บไซต์ไปตรวจสอบพบว่าเป็นลิงก์เว็บไซต์ปลอม ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 9,611,361 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาชักชวนลงทุนหารายได้พิเศษอ้างผลตอบแทนดีผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line ทักไปสอบถามรายละเอียด จากนั้นให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อเริ่มทำงาน โดยจะต้องเสียค่าสมัครสมาชิกและต้องโอนเงินทำกิจกรรม จะได้รับค่าคอมมิชชันเป็นการตอบแทน ช่วงแรกได้รับค่าคอมมิชชันและสามารถถอนเงินได้จริง ภายหลังโอนเงินเพิ่มขึ้นแต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าทำรายการผิดพลาด ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 7,570,168 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนลงทุนเทรดบิตคอยน์อ้างได้ผลตอบแทนดี ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดผ่านทาง Messenger Facebook จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนทาง Line ให้กรอกข้อมูลส่วนตัวและติดตั้งแอปพลิเคชัน มิจฉาชีพแจ้งว่าให้โอนเงินลงทุนในจำนวนที่มากเพื่อจะได้รับผลตอบแทนดีและรวดเร็วมากขึ้น ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ต่อมาเห็นว่ามีกำไรสะสมเป็นเหรียญจำนวนมากจึงต้องการถอนเงิน แต่มิจฉาชีพแจ้งว่าผู้เสียหายได้ทำรายการผิดพลาด ระบบระงับรายการถอนเงินไว้ชั่วคราว จะต้องโอนเงินเข้าไปเพิ่มเพื่อแก้ไขข้อมูล ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 7,154,589 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook อ้างตนเป็นทนายสามารถช่วยเหลือดำเนินคดีอาชญากรรมออนไลน์ จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line มีการสอบถามรายละเอียดทางคดีและติดต่อสนทนาผ่าน VDO Call โดยให้พูดคุยกับอีกบุคคลหนึ่งซึ่งอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งว่าเงินของผู้เสียหายอยู่ในเว็บไซต์การลงทุน เทรดหุ้นที่ผิดกฎหมาย หากไม่ทำตามคำแนะนำจะมีความผิดขั้นร้ายแรง ให้โอนเงินเป็นค่าดำเนินการและจะโอนเงินกลับ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ภายหลังการโอนเงินไม่ได้รับเงินคืนตามที่แจ้งไว้และให้โอนเพิ่มอีกหลายครั้ง ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 4,727,506 บาท โดยผู้เสียหายได้รู้จักกับมิจฉาชีพผ่านช่องทางแอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์ Tinder จากนั้นพูดคุยกันจนสนิทใจแต่ไม่เคยพบเจอกัน ต่อมาภายหลังชักชวนให้ลงทุนหุ้นบริษัทน้ำมัน แจ้งผลตอบแทนสูงเพื่อเป็นเงินในการสร้างอนาคตร่วมกัน ผู้เสียหายหลงเชื่อทำตามคำแนะนำ ลงทุนในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้น ตนต้องการถอนเงินออกแต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าต้องจ่ายค่าภาษีก่อนจึงสามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้ ตนเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 39,759,856 บาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 20 ธันวาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,317,746 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,168 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 437,409 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,170 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 131,580 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 30.08 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 105,674 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.16 (3) หลอกลวงลงทุน 64,814 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.81 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 39,351 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 9.00 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 33,529 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.67 (และคดีอื่นๆ 62,461 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.28)
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการต่างๆ หลอกลวงผู้เสียหาย ทั้งการหลอกให้ลงทุนชวนเทรดหุ้น-บิตคอยน์ ได้ผลตอบแทนดี ผ่านช่องทาง Facebook , Line และแอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์ Tinder เพื่อหารายได้พิเศษ และข่มขู่หลอกผู้เสียหายว่ามีโทษความผิดในคดีอาชญากรรมออนไลน์ อ้างเป็นทนายให้ความช่วยเหลือ ติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการ ร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ หรือถูกอ้างว่ามีคดีติดตัว ที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ และความปลอดภัย ต่อการถูกหลอกลวง ดังนั้นขอให้สอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล และทำการเพิ่มเพื่อนหรือดำเนินการใดๆ ในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ และการถูกข่มขู่จากมิจฉาชีพอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” วงศ์อะเคื้อ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com