27 ธ.ค. 2567 309 3

NT มั่นใจหน่วยงานภาครัฐย้ายระบบขึ้นคลาวด์ ร่วมบูรณาการข้อมูล Open Data สร้างจุดเปลี่ยนรัฐบาลดิจิทัล

NT มั่นใจหน่วยงานภาครัฐย้ายระบบขึ้นคลาวด์ ร่วมบูรณาการข้อมูล Open Data สร้างจุดเปลี่ยนรัฐบาลดิจิทัล

NT ย้ำบทบาทนำเทคโนโลยีหนุนภาครัฐเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ชี้บูรณาการดาต้าบนคลาวด์เทรนด์ที่เลี่ยงไม่ได้ ชวนทุกหน่วยงานรัฐร่วมกันเดินหน้า Go Cloud First   

พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) หรือ NT ในฐานะผู้ให้บริการคลาวด์ภาครัฐรายใหญ่รวมถึงระบบคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC กล่าวในงาน Public Sector Day Thailand 2024  ซึ่งจัดโดย AWS (Amazon Web Services) เกี่ยวกับภาพรวมการยกระดับศักยภาพคลาวด์กลางภาครัฐของประเทศไทยว่า นอกจาก NTเปิดให้บริการระบบคลาวด์กลาง GDCC มาแล้วกว่า 5 ปีโดยช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการใช้งานและบำรุงรักษาไม่น้อยกว่า 40% รวมถึงการตอบโจทย์ด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่ต้องจัดเก็บภายในประเทศ  ล่าสุดเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศด้วยเทคโนโลยีบนคลาวด์เต็มประสิทธิภาพ NT ได้เตรียมขยายการรองรับหน่วยงานภาครัฐโอนย้ายระบบงานขึ้นคลาวด์ในระยะต่อไปด้วยคลาวด์ที่ทันสมัยยิ่งขึ้นภายใต้นโยบาย Go Cloud First  ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งนำระบบงานรัฐขึ้นคลาวด์ทั้งหมดในปีหน้า  

ปัจจุบันระบบคลาวด์ GDCC ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน(IaaS) ด้วยระบบเซิร์ฟเวอร์เสมือน(Virtual Machine) กว่า 40,000 VM รองรับหน่วยงานภาครัฐใช้บริการกว่า 800 หน่วยงาน รวมกว่า 3,000 ระบบงาน ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลแบบแยกหน่วยงานและใช้งานแบบไซโล ข้อมูลบางส่วนสามารถเข้าถึงได้เฉพาะกลุ่ม หรือหลายฝ่ายไม่สามารถเข้าถึงชุดข้อมูลเดียวกันได้เป็นสาเหตุให้การบูรณาการต่อยอดเทคโนโลยีด้านข้อมูลภาครัฐยังไม่เต็มที่เท่าที่ควร  ส่วนนี้จะยกระดับด้วยการพัฒนาคลาวด์กลางภาครัฐระยะต่อไปโดยคลาวด์เฟิร์สเป็นการผสมผสานไพรเวทและพับลิกคลาวด์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยไร้ขีดจำกัด  ครอบคลุมบริการทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน (IaaS) แพลตฟอร์ม (PaaS)  และซอฟต์แวร์ (SaaS) เพื่อรองรับสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ

พันเอก สรรพชัยย์ กล่าวว่า ภาครัฐยุคใหม่ทั่วโลกเปลี่ยนวิธีการทำงานในการพัฒนาบริการประชาชนที่สะดวกแบบวันสต็อป โดยใช้คลาวด์เต็มรูปแบบ เป็นเทรนด์ที่ภาครัฐไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยหัวใจสำคัญคือความร่วมมือบูรณาการข้อมูลภาครัฐแบบ Open Data บนคลาวด์ที่จะเชื่อมไปสู่การใช้เทคโนโลยี AI  เงื่อนไขแรกและเป็นปัจจัยสำคัญคือบูรณาการข้อมูลภาครัฐให้เป็น Open Data จะต้องเกิดขึ้นก่อนเพื่อรันสู่สเต็ปของ Gen AI เพื่อให้เกิดการเทรนAI ของภาครัฐด้วยข้อมูลของประเทศไทย  การต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เอไอ บล็อกเชน สมาร์ตซิตี้แพลตฟอร์มต่างๆ จะเกิดตามมาได้เมื่อทุกหน่วยงานภาครัฐพร้อมกันนำข้อมูลขึ้นมาบนคลาวด์และร่วมบูรณาการข้อมูลด้วยกัน”


นอกจากนี้ ในการยกระดับความสามารถครบวงจรของระบบคลาวด์กลางภาครัฐดังกล่าว NT ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม CMP (Cloud Management Platform) ระบบบริหารกลางทำหน้าที่เชื่อมการทำงานร่วมกันระหว่างคลาวด์ระบบ GDCC และคลาวด์ระบบใหม่ที่รองรับ Open Data โดยความร่วมมือกับกลุ่มผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลก เช่น AWS รวมถึงผู้ให้บริการไฮเปอร์สเกลคลาวด์รายอื่นๆ   แพลตฟอร์ม CMP จะให้ความสะดวกหน่วยงานภาครัฐในการเลือกใช้บริการบนคลาวด์ที่เหมาะสมตามความต้องการในแต่ละงาน  พร้อมกับช่วยบริหารการจัดชั้นข้อมูล โดยคาดว่าจะเปิดใช้งานในปีหน้า รองรับการบริหารคลังข้อมูลภาครัฐในระยะต่อไปที่จะมุ่งนำข้อมูลย้ายขึ้นคลาวด์มากขึ้นเพื่อเพิ่มการใช้บริการ PaaS และ SaaS ขณะที่บริการ IaaS หรือ GDCC จะเน้นสำหรับข้อมูลที่จำเป็นต้องเก็บในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้ภาพรวมการพัฒนาคลาวด์กลางยกระดับความพร้อมเพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมด้าน AI และสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการต่างๆ ให้เข้าถึงประชาชนอย่างสะดวกรวดเร็ว 

พันเอก สรรพชัยย์  กล่าวย้ำว่า การบูรณาการข้อมูลเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่เป็นความเร่งด่วนและท้าทายของทุกหน่วยงานภาครัฐที่จะเดินหน้าร่วมกันเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนสู่อนาคตรัฐบาลดิจิทัล ตั้งแต่การปรับกระบวนการภายใน วัฒนธรรมองค์กร การสื่อสารทำความเข้าใจภายในองค์กร และการประสานงานของระบบต่างๆ ปรับตัวจากระบบเดิม (Legacy System) เพื่อเปลี่ยนสู่ระบบใหม่บนคลาวด์ซึ่งอาจเป็นโจทย์ใหญ่ช่วงแรก หลังจากนั้นเชื่อมั่นว่าหน่วยงานภาครัฐจะเกิดศักยภาพขับเคลื่อนการพัฒนาบนเทคโนโลยีที่ต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว เพิ่มขีดความสามารถรองรับการขยายศักยภาพประเทศไทยในอนาคตระยะยาว “ภาพอนาคตเมื่อหน่วยงานภาครัฐนำข้อมูลขึ้นมาอยู่บนคลาวด์ครบถ้วน ประเทศไทยจะยกระดับเทคโนโลยีในการบริหารประเทศ โดยทุกจังหวัดสามารถมีระบบงานบนคลาวด์และมี API ที่ต่อเชื่อมกัน หน่วยงานอื่น ๆ สามารถดึงข้อมูลจาก Open Data ไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูล ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศที่ยั่งยืน”