เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมปฏิบัติการ เรื่อง “การอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ ในการให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ (Landing Rights) : โอกาสและความท้าทาย” โดยมี พรพรรณ ตันนุกิจ ผู้อำนวยกองกิจการอวกาศ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) กล่าวรายงาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากผู้ให้บริการดาวเทียม ผู้ใช้ประโยชน์จากดาวเทียม ผู้ผลิตอุปกรณ์ หน่วยงานวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานกำกับดูแล กลุ่มผู้ประกอบการต้นน้ำในอุตสาหกรรมดาวเทียม และกลุ่มผู้ประกอบการปลายน้ำ กลุ่มการคมนาคมและขนส่ง กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเกษตรกรรม กลุ่มการแพทย์และสาธารณสุข และกลุ่มการศึกษา รวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมด้านงานวิจัยและพัฒนา และการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการคอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นจากการอนุญาต Landing Rights จากทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านรัฐบาลมีนโยบายการเปิดน่านฟ้า (Open Skies Policy) โดยเปิดให้ดาวเทียมต่างชาติสามารถให้บริการภายในประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่ได้ให้ความเห็นชอบนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ หรือที่เรียกว่า “นโยบาย Landing Rights” โดยมีการจัดทำประกาศที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตลาดในระดับรัฐ (State Level) และ 2) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในระดับผู้ประกอบการ (Firm level) ในการขออนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์
สำหรับผลของประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นการสร้างบรรยากาศการลงทุนในกิจการดาวเทียม และส่งผลให้เริ่มมีผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารขอรับอนุญาต Landing Rights ทั้งการให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit: GSO) และวงโคจรไม่ประจำที่ (Non - Geostationary - Satellite Orbit: NGSO) ครอบคลุมการบริการในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการบริการบนพื้นดิน พื้นน้ำ และการขนส่งภาคอากาศยาน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อผู้ประกอบการในประเทศ และผู้ใช้บริการในหลายภาคส่วน ประกอบกับในระยะ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศโดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ (Low Earth Orbit Satellite : LEO Satellite) ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการ ดีอี (BDE) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ
ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดาวเทียมและการให้บริการที่เกี่ยวข้อง
จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการประเมินผลกระทบและจัดทำนโยบายรองรับการเปิดตลาดให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการ
ซึ่งถือเป็นโอกาสในการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นจากการอนุญาต Landing
Rights จากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมดาวเทียม โดยความคิดเห็นที่ได้รับจากการประชุมเชิงปฏิบัติการมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้การประเมินผลกระทบเป็นไปอย่างครบถ้วนและสามารถสะท้อนมุมมองผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอนุญาต
Landing Rights ได้อย่างรอบด้าน
ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการทบทวนนโยบาย Landing Rights ให้สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมดาวเทียม การสร้างสมดุลการแข่งขันของผู้ประกอบการดาวเทียม ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและบริการดาวเทียมต่างชาติต่อไปในอนาคต