16 ม.ค. 2568 369 5

เจอจับจริง!! ทรู คอร์ปอเรชั่น หารือ ผบ.ตร. ผนึกกำลังตั้ง 'วอร์รูม' ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เจอจับจริง!! ทรู คอร์ปอเรชั่น หารือ ผบ.ตร. ผนึกกำลังตั้ง 'วอร์รูม' ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ทรู คอร์ปอเรชั่น ลุยเข้มหยุดภัยมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประชาชน โดยคณะผู้บริหารระดับสูง นำโดย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร และ ทิพยรัตน์ แก้วศรีงาม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการจัดการระดับภูมิภาค เข้าพบ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีแนวคิดตั้ง “วอร์รูม” ร่วมกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ


การปรึกษาหารือครั้งนี้ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทรู คอร์ปอเรชั่น จะร่วมมือกันในแนวทางการจัดตั้ง "วอร์รูม" ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการข้อมูลเชิงลึกจากทั้งสองฝ่าย นำมาวิเคราะห์เพื่อป้องปรามและจับกุมแก๊งมิจฉาชีพ โดยเฉพาะการทลายเครือข่ายที่ใช้อุปกรณ์ซิมบ็อกซ์ (Simbox) และการตรวจจับพฤติกรรมการโทรหรือส่ง SMS ที่ผิดปกติ เพื่อหยุดยั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์และทลายแหล่งมิจฉาชีพในการสร้างความเสียหายและการสูญเสียทรัพย์สินจากการหลอกลวงประชาชน


มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในฐานะผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของประเทศไทย เราตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงได้มุ่งมั่นดำเนินมาตรการเชิงรุกอย่างเข้มข้น เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากมิจฉาชีพที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ทั้งในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการส่งข้อความ SMS หลอกลวง โดยบริษัทได้กำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของลูกค้าและสังคมอย่างเป็นระบบ มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยคัดกรองและเฝ้าระวังพฤติกรรมที่ผิดปกติ พร้อมทั้งจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจในการตรวจสอบและป้องกันการกระทำผิดอย่างเข้มงวด ล่าสุด เราได้ยกระดับความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการบูรณาการการทำงานเชิงลึก ด้วยการเตรียมจัดตั้งวอร์รูมร่วมกัน เพื่อผสานความเชี่ยวชาญและข้อมูลเชิงลึกจากทั้งสองฝ่าย การร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ยับยั้งและทลายเครือข่ายมิจฉาชีพ เพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรเหล่านี้”

นับตั้งแต่ปี 2567 บริษัทได้เพิ่มความเข้มงวดในการลงทะเบียนซิมการ์ดและเลขหมาย พร้อมนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการคัดกรอง มีการยกเลิกความร่วมมือกับคู่ค้าที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย และระงับการใช้งานซิมการ์ดที่อาจถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ รวมถึงจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจด้านการป้องกันการทุจริต (Fraud Team)


นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังได้พัฒนาบริการ "ทรูไซเบอร์เซฟ" (True CyberSafe) เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่ผู้ใช้บริการ โดยระบบจะแจ้งเตือนเมื่อพบลิงก์ต้องสงสัย ซึ่งลูกค้าทรู-ดีแทค และทรูออนไลน์สามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม

ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้นำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยล่าสุดได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน Cyber Check ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถคัดกรองเบอร์โทรศัพท์และตรวจสอบเลขบัญชีธนาคารที่ต้องสงสัยได้ โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อมูลจากการร้องเรียนและการดำเนินคดีจริง


ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินที่ถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี