21 ม.ค. 2568 69 0

AOC 1441 เตือนภัย 'โจรออนไลน์' ใช้กลลวง หลอกลงทุนเทรดหุ้น – รับรางวัล ทำสูญเงินกว่า 21 ล้านบาท

AOC 1441 เตือนภัย 'โจรออนไลน์' ใช้กลลวง หลอกลงทุนเทรดหุ้น – รับรางวัล ทำสูญเงินกว่า 21 ล้านบาท

วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 13 – 19 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย


คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 1,302,986 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ผู้เสียหายสนใจทักไปสอบถามข้อมูลเพิ่มผ่านทาง Messenger Facebook และเข้ากลุ่ม Line จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่าต้องจ่ายค่าสมัครสมาชิกก่อนจึงจะโพสต์ขายสินค้าได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไป ต่อมามีการชักชวนให้โอนเงินลงทุนเพื่อรับค่าคอมมิชชัน แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 7,959,500 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาสอนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จากเว็บไซต์ ผู้เสียหายสนใจจึงสอบถามรายละเอียดและเพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นชักชวนให้เข้า Group Line สอนการลงทุนและให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อเปิดพอร์ตการลงทุน ครั้งแรกสามารถถอนเงินจากระบบได้จริง มิจฉาชีพแนะนำให้โอนเงินลงทุนเพิ่มเพื่อได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ต่อมาผู้เสียหายต้องการถอนเงิน แต่ไม่สามารถถอนได้ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 7,744,476 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาเชิญชวนเทรดหุ้นรวยง่ายผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจทักไป สอบถามรายละเอียดและเพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพแนะนำและสอนขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ ในการเทรดหุ้น ผู้เสียหายจึงโอนเงินเพื่อเทรดหุ้น ในช่วงแรกสามารถถอนเงินจากระบบได้ เมื่อโอนเงินเพิ่มและเทรดหุ้นได้จำนวนมากขึ้น แต่ไม่สามารถถอนเงินได้ ตรวจสอบทราบภายหลังจากหน้าเพจ พบว่ามีการแสดงความคิดเห็นด้วยไอคอนรูปหน้าอารมณ์โกรธ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 2,152,954บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านข้อความทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ บริษัท ออล เอ็กซ์เพลส แจ้งว่ามีกิจกรรมพิเศษแจกอุปกรณ์เครื่องครัว ให้เพิ่มเพื่อนทาง Line ชักชวนทำกิจกรรมโอนเงินเพื่อรับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ผู้เสียหายสนใจจึงโอนเงินไป ช่วงแรกสามารถถอนเงินออกมาได้จริง จึงโอนเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถถอนเงินได้ เมื่อสอบถามไปยังมิจฉาชีพแจ้งว่าผู้เสียหายทำการถอนเงินบ่อยเกินไปทำให้ระบบล็อค ต้องโอนเงินไป เพื่อเปิดระบบให้ทำการแก้ไข ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5  คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,999,929 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนทำงานหารายได้พิเศษ โดยการโอนเงินสำรองทุนในการสั่งสินค้ามาจำหน่ายเพื่อรับค่าคอมมิชชัน ผู้เสียหายสนใจจึง สอบถามรายละเอียดผ่านทาง Messenger Facebook แล้วเพิ่มเพื่อนทาง Line ทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำ ช่วงแรกได้รับเงินจริง จึงโอนเงินไปลงทุนเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพอ้างว่ายอดเงินมูลค่าสูงต้องชำระค่าภาษีก่อน จากนั้นโอนเงินไปแล้วก็ยังไม่สามารถถอนได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 21,159,845 บาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 17 มกราคม 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,395,511 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,143 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 480,175 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,194 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 147,495 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 30.72 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 113,918 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.72 (3) หลอกลวงลงทุน  70,174 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.61 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 45,260 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 9.43 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 36,065 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.51 (และคดีอื่นๆ 67,263 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.01)

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการหลอกให้ลงทุน เพื่อหารายได้พิเศษ หรือหลอกลวงชวนเทรดหุ้น และซื้อสินค้าเพื่อการลงทุน ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook และส่วนใหญ่มีการให้เพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อสมัครเข้าร่วมลงทุน และมีการใช้ข้ออ้างต่างๆ เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้เสียหายต้องการถอนเงิน มิจฉาชีพจะกล่าวอ้างว่ามีการทำผิดกฎไม่สามารถถอนเงินได้ ทั้งนี้ขอย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ โดยควรสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด” วงศ์อะเคื้อ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441

แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)

|  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com