7 ก.พ. 2568 522 3

องค์กรไทยสำเร็จในระดับนานาชาติ รับรางวัล ATCI 'ASOCIO 2024 DX Award' และ 'APICTA 2024' ด้านผลงานเทคโนโลยีดิจิทัล

องค์กรไทยสำเร็จในระดับนานาชาติ รับรางวัล ATCI 'ASOCIO 2024 DX Award' และ 'APICTA 2024' ด้านผลงานเทคโนโลยีดิจิทัล
สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ATCI) ประกาศความสำเร็จของ 17 องค์กรไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการพัฒนาและประสบความสำเร็จในการใช้ดิจิทัลที่โดดเด่น มาบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ  ASOCIO 2024 DX Award จากสมาพันธ์ ASOCIO


ATCI (The Association of Thai ICT Industry) เป็นสมาคมผู้ประกอบการด้าน ICT ของไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนให้เกิดการนำเทคโนโลยี ICT และ Digital มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในช่วงเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา ATCI ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ICT ของไทย เช่นการผลักดันให้เกิดนโยบายและแผนพัฒนาด้าน ICT ของประเทศ  การปรับปรุงกฏหมาย มาตรการภาษี และมาตรฐานด้าน ICT  การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาความรู้และทักษะด้าน IT และ Digital ให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมและบริการ การส่งเสริมอุตสาหกรรม ICT โดยเฉพาะ SME ของไทยให้เติบโตและแข่งขันได้ในภูมิภาค รวมทั้งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกและประสานความร่วมมือกับองค์กรด้าน ICT ระหว่างประเทศ เช่น ASOCIO  WITSA และ APICTA เป็นต้น

สมาพันธ์ ASOCIO (Asian Oceanian Computing Industry Organization) เป็นองค์กรนานาชาติ ประกอบด้วยสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และบริการแห่งภาคพื้นเอเชีย-โอเชียเนีย ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการด้าน ICT จาก 24 เขตเศรษฐกิจ (ประเทศ) ทั่วเอเชียแปซิฟิก  จาก ออสเตรเลีย ประเทศไทย บังคลาเทศ ภูฏาน เนปาล มาเก๊า ไต้หวัน ศรีลังกา เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา บรูไน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาร์ มองโกเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ASOCIO ก่อตั้งขึ้นในกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นในปี 1984 เป็นองค์กรการค้า ICT ระหว่างประเทศที่ทรงเกียรติและมีบทบาททางการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย  ASOCIO ประกอบไปด้วยบริษัท ICT ชั้นนำในภูมิภาคมากกว่า 10,000 บริษัท มียอดรายได้ต่อปีรวมกันมากกว่า 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  วัตถุประสงค์ของ ASOCIO คือการสนับสนุนและสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน ระหว่างสมาชิก เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และบริการในภูมิภาค


สุภัค  ลายเลิศ นายกสมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย  กล่าวว่า  กิจกรรมของ ASOCIO จะจัดขึ้นทุกปีในเขตเศรษฐกิจของสมาชิกที่แตกต่างกันหมุนเวียนกันไป มีตั้งแต่การ  จัดทำรายงานการวิจัยในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก  การจัดนิทรรศการ การมอบรางวัลให้กับองค์กรที่มีการพัฒนาและประสบความสำเร็จในการใช้ดิจิทัลที่โดดเด่น  การจัดประชุมสัมมนา  และการประชุมระดับรัฐมนตรีของ ASOCIO ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญของภูมิภาค โดยจัดให้มีแพลตฟอร์มสำหรับรัฐบาลและอุตสาหกรรมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นระหว่างสมาชิก

โดยในปีนี้ ทางสมาพันธ์ ASOCIO  ได้พิจารณาเห็นชอบให้มอบรางวัล ASOCIO 2024 DX Award ให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทยที่มีการพัฒนาและประสบความสำเร็จในการใช้ดิจิทัลที่โดดเด่น มาบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ ASOCIO  ใคร่ขอแสดงความยินดีให้กับองค์กรไทยทั้ง 17 องค์กรที่ได้รับรางวัล ในแต่ละสาขา ดังนี้

การมอบรางวัลในปีนี้ ได้จัดขึ้น ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.50 น. ณ ANA Intercontinental Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในการประชุม ASOCIO Digital Summit 2024 ระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2567


สำหรับรายละเอียดของรางวัลและองค์กรที่ได้รับแต่ละสาขานั้นสามารถดูได้ที่เว็บไซต์atci.or.th หรือ Page FB : ATCI (Thailand)


องค์กรไทยประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ASOCIO 2024 DX Award

การมอบรางวัลในปีนี้ ได้จัดขึ้น ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.50 น. ณ ANA Intercontinental Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในการประชุม ASOCIO Digital Summit 2024 ระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2567



ASOCIO 2024 DX Awards (ให้รายละเอียดโดยย่อ)


Metropolitan Electricity Authority (MEA) / การไฟฟ้านครหลวง


MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและมั่นคง รองรับวิถีชีวิตคนเมือง มีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (MEA Smart Metro Grid) นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับระบบจำหน่ายไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ สามารถวิเคราะห์ปัญหาของการเกิดเหตุขัดข้องได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาไฟฟ้าขัดข้อง และมี MEA Smart Life Application ให้บริการด้านระบบไฟฟ้ากับประชาชน เช่น ตรวจสอบค่าไฟ ชำระค่าไฟ แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้อง เป็นต้น



Government Savings Bank (GSB) / ธนาคารออมสิน

ธนาคารออมสินมุ่งมั่นที่จะสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” อย่างแท้จริง โดยธนาคารได้ดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินและตอบสนองความต้องการของคนไทย โดยใช้ความสามารถของ Microsoft Power Apps และ Power Platform ในการจัดตั้งศูนย์ให้บริการลูกค้าแบบดิจิทัล (Digital Branch) รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานภายในของธนาคาร เช่น การจัดจ้างบุคลากร การจัดทำรายงาน และการประมวลผลการเก็บข้อมูล ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ส่งผลให้การดำเนินงานที่มีความคล่องตัวมากขึ้น เพิ่มความพึงพอใจทั้งในส่วนของลูกค้าและพนักงาน โดยมีรายละเอียดการนำเทคโนโลยีของ Microsoft มาใช้ในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ด้านการให้บริการสินเชื่อกับลูกค้ารายย่อย ผู้ซึ่งไม่มีแหล่งรายได้ประจำ และไม่มีประวัติทางการเงิน ให้สามารถเข้าถึงการขอสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัลผ่าน Power Platform ที่สามารถรองรับการประมวลผลคำขอสินเชื่อได้มากกว่า 400,000 รายภายในวันเดียว ซึ่งรวมถึงคำขอกู้ยืมเพื่อบรรเทาทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 จำนวน 1.72 ล้านรายการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงสิ้นปี 2564

2. ด้านการสนับสนุนการให้บริการของพนักงานสาขา โดยนำ Microsoft PowerApps มาใช้เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงานสำหรับพนักงานสาขาให้สามารถส่งแบบคำขอใช้บริการจากเดิมในรูปแบบเอกสารมาเป็นแบบดิจิทัลทั้งหมด ทำให้ลดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน รวมถึงสามารถติดตามสถานะการดำเนินงานได้ทุกขั้นตอน

3. ด้านการปฏิบัติงานภายในธนาคารสำหรับฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล โดยการพัฒนาระบบด้วย Microsoft PowerApps เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลการสรรหาบุคลากรและติดตามการสมัครงาน รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เช่น การให้ความยินยอมข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลด้านสุขภาพของพนักงานในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ลดเวลา และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นต่อการให้บริการพนักงานได้ทั่วถึงทั้งองค์กร



Digital Economy Promotion Agency (DEPA) / สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล


ยกระดับเมืองอัจฉริยะประเทศไทย” โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้พลิกโฉมภูมิทัศน์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยด้วยแนวทาง “3C” ได้แก่ 1. การสร้างศักยภาพ (Capacity Building) ผ่านโครงการสำคัญ เช่น โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (Smart City Ambassadors) และการจัดอบรมตลอดจนหลักสูตรด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้แก่ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ และเยาวชนกว่า 1,000 คน เพื่อผลักดันโครงการเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่น รวมถึง Coding Thailand ที่เข้าถึงนักเรียนกว่า 1,500 โรงเรียนทั่วประเทศ  2. การร่วมสร้างนวัตกรรม (Co-Creation) ที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนได้นำไปสู่นวัตกรรมต่างๆ เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วมแบบ Digital Twin และแพลตฟอร์มเครื่องจ่ายน้ำอัจฉริยะ ซึ่งกวาดรางวัลระดับโลกมาแล้ว ตลอดจนขยายไปสู่ระบบบริการอัจฉริยะ (Smart Solutions) ครอบคลุม 7 มิติการพัฒนาของเมืองอัจฉริยะประเทศไทย สุดท้าย  3. ความร่วมมือ (Collaboration) กับองค์กรทั้งในและต่างประเทศกว่า 183 แห่ง ซึ่งช่วยกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมที่แข่งขันได้และการพัฒนาอย่างยั่งยืน กลยุทธ์นี้นำไปสู่การขยายตัวของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยจาก 27 เมืองเป็น 158 เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะในช่วงปี 2562-2567 (เติบโตขึ้นกว่า 500% แม้ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) โดยในจำนวนนี้มี 36 เมืองอัจฉริยะที่ได้รับตราสัญลักษณ์ฯ ซึ่งมีประชากรที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนานี้กว่า 16 ล้านคน รวมถึงสามารถดึงดูดการลงทุนมูลค่ากว่า 66,000 ล้านบาท (ประมาณ 1.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ความสำเร็จของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลยังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติผ่านรางวัลต่างๆ มากมายเช่น Best Partnership Award ในงาน 2023 World Smart City Expo จากสาธารณรัฐเกาหลี, Best Special Project และ Regional Leadership Awards ในงาน 2024 Smart City Expo World Congress จากสาธารณรัฐประชาชนจีน, Expo Hackathon Award 2021 จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, และ Presidential Hackathon on Digital, Green, and Inclusive Solutions 2023 จาก สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ผลงานเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะประเทศไทยโดยมุ่งหวังให้เป็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพตลอดจนสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก


Comptroller General’s Department / กรมบัญชีกลาง

ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ หรือระบบ New GFMIS Thai ถูกพัฒนาขึ้น ให้เป็นเสาหลักของระบบการคลังของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อทดแทนระบบ GFMIS เดิม ที่ใช้งานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องการ Upgrade Software เรื่องลิขสิทธิ์ และการบำรุงรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ระบบ New GFMIS Thai จึงพัฒนาภายใต้ Software Open source เพื่อให้ระบบมีความยืดหยุ่น สามารถพัฒนาและปรับปรุงให้ทันสมัย เชื่อมโยง และบูรณาการกับกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ และรองรับการเพิ่มขึ้นของหน่วยงานรัฐที่จะเกิดขึ้นใหม่

T- NET Co., Ltd. / บริษัท ที-เน็ต จำกัด

บริษัท ที-เน็ต จำกัด บริษัท ที-เน็ต จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในระดับต้นๆของประเทศไทย ในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา บริษัท ที-เน็ต จำกัด ได้เข้าไปจัดทำแบบประเมินทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(E-Government) นอกจากนี้ ยังจัดทำ แปล เรียบเรียง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัย มาตรฐานการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ มาตรฐานปัญญาประดิษฐ์(AI)ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทางด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(E-Government) เพื่อให้รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยเข้าสู่มาตรฐานระดับสากล จึงส่งผลให้บริษัท ที-เน็ต จำกัด ได้รับการคัดสรร ให้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

Financial Data Hub และ Health Rider, Ministry of Public Health / กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุข คว้า 2 รางวัล บนเวทีระดับโลก ASOCIO 2024 DX Award


เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ Health Rider ได้รับรางวัลในสาขา ASOCIO Environmental, Social & Governance : ESG Award In Public Sector


โครงการ Health Rider เป็นโครงการที่ยกระดับการให้บริการสาธารณสุข ด้วยการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และในปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงกว่า 712 โรงพยาบาล และมีจำนวนการส่งยารวมทั้งสิ้น 1,200,635 ออร์เดอร์ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2024) และบริการดังกล่าวได้รับความพึงพอใจจากบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยลดภาระการเดินทางของผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดความแออัดในโรงพยาบาลได้จริง

อีกหนึ่งบรืการที่ได้รับรางวัล คือ Financial Data Hub ได้คว้ารางวัล ASOCIO Health Tech Award in Public Sector

Financial Data Hub หรือ ศูนย์กลางข้อมูลทางด้านการเงิน ช่วยเชื่อมโยงข้อมูลการเงินในระบบสุขภาพให้สามารถวิเคราะห์ วางแผน และจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัจจุบันมีหน่วยบริการเข้าร่วมทั้งสิ้น 2,041 แห่ง โดยมีการเบิกจ่ายรวมทุกสิทธิ์กว่า 53,425,886 เคส และยอดเรียกเก็บทั้งหมด 124,085,936,259.26 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2024) โครงการนี้ช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ ทำให้ทรัพยากรถูกใช้อย่างคุ้มค่า

ทั้งนี้ Health Rider และ Financial Data Hub เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการนำนโยบายด้านสุขภาพดิจิทัล มาปฏิบัติใช้จริง ภายใต้การกำกับการดำเนินงานโดย กระทรวงสาธารณสุข อันส่งผลให้ระบบของกระทรวงสาธารณสุขไทยมีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

Bangkok Dusit Medical Services (BDMS) / โรงพยาบาลกรุงเทพ

บีดีเอ็มเอส คว้ารางวัล HealthTech Award  in Private Sector ในงาน ASOCIO 2024 DX Award

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับ รางวัล ASOCIO 2024 DX Award สาขา รางวัล HealthTech Award in Private Sector จาก สมาพันธ์อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์แห่งเอเชีย-โอเชียเนีย (ASOCIO) องค์กรนานาชาติที่รวมสมาคมอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจาก 24 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย โดยมีเป้าหมายเพื่อยกย่ององค์กรที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมด้าน IT มาใช้พัฒนาองค์กรและสร้างผลลัพธ์ที่โดดเด่น โดยมี นพ.ประดิษฐ์ สมประกิจ ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ฝ่ายสารสนเทศ กลุ่ม 1 และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนไลน์ ซินเนอร์จี้ จำกัด  ผู้ดูแลงานด้าน IT ให้กับเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)  เป็นผู้แทนรับมอบรางวัล ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา

BDMS เรามุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาและพัฒนาบริการทางการแพทย์ให้รวดเร็วและเข้าถึงได้มากขึ้น ได้นำระบบสารสนเทศทางการแพทย์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยและการรักษา เช่น เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) ที่ช่วยให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ AI และ Big Data Analytics ที่ช่วยวิเคราะห์โรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงแพลตฟอร์ม Telemedicine ที่เพิ่มการเข้าถึงการรักษาจากทุกที่  เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย BDMS มุ่งพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ช่วยให้กระบวนการรักษาแม่นยำ รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ


Cyber Crime Investigation Bureau / กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี


ระบบรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากระบบในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะความสามารถในการรับแจ้งความได้ทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาการเดินทางของประชาชน เพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการแจ้งความ ระบบนี้ช่วยให้การมอบหมายงาน การประสานงานระหว่างหน่วยงาน และการติดตามสถานะดำเนินไปอย่างโปร่งใส รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้การจัดการกับอาชญากรรมทางออนไลน์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยกระดับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมและการทำงานของตำรวจ


นอกจากนี้ ระบบยังมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดในอนาคตเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ในยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม การดำเนินการให้ระบบนี้ประสบความสำเร็จในเชิงปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีและความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา


PTT Digital Solutions Company Limited / บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่นส์ จำกัด


บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ขึ้นรับมอบรางวัลแห่งความภาคภูมิใจในระดับนานาชาติ “ASOCIO 2024 DX Award ในสาขา Cybersecurity Award” โดยคุณคมศักดิ์ ฉิมนุตพาน คุณศุภฤกษ์ อิทธิพลานุคุปต์ และคุณภาณุมาส มาลาเจริญ เป็นผู้แทนรับมอบรางวัล ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567


บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด เป็นผู้นำด้าน Cybersecurity ครบวงจรทั้งด้าน IT และ OT จึงมีความพร้อมในการให้บริการในทุกกลุ่มธุรกิจ อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญด้านการป้องกันการโจมตี และการทดสอบโจมตีระบบเป็นอย่างดี เราจึงนำประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาใช้ในการคัดสรรโซลูชั่นและบริการที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการแต่ละราย


บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ขอขอบคุณคณะกรรมการ ATCI และสมาพันธ์ ASOCIO (Asian-Oceanian Computing Industry Organization) ที่เห็นถึงความเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมในการคัดสรรเทคโนโลยีที่ทันสมัยมายกระดับคุณภาพการให้บริการมาตรฐานสากล และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนากระบวนการ ศักยภาพบุคลากร การรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนขั้นสูง ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย



One Ten Plus Co., Ltd. / บริษัท วัน เท็น พลัส จำกัด

BeaRiOt: ESG IoT Solution – นวัตกรรมต้นน้ำที่กำลังปฏิวัติอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG BeaRiOt เป็น Industrial IoT Platform ที่เริ่มต้นตั้งแต่การดึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์ อาทิ การใช้พลังงาน การตรวจสุขภาพของเครื่องจักร การวัดค่าสิ่งแวดล้อม ทั้งในแบบการติดตั้งภายในพื้นที่และแบบออนไลน์ และเพื่อช่วยให้องค์กรมีระบบ IoT ที่สามารถเป็นศูนย์รวมของข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการทำ ESG Solution ขององค์กรต่อไป ตัวอย่างเช่น BeaRiOt ช่วยลดการใช้พลังงานได้ 25% และลดเวลาในการแก้ปัญหาการซ่อมบำรุงได้เร็วขึ้นถึง 14 เท่า ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน ระบบของเราเพิ่มความโปร่งใสและช่วยให้ตัดสินใจได้บนพื้นฐานของข้อมูลจริง

นวัตกรรมของเราได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จากการคว้ารางวัล APICTA 2023 ที่ Hong Kong ในหมวด Internet of Things of The Year และ ASOCIO 2024 Tokyo ในหมวด ESG Award in Private Sector เรากำลังทำงานอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืนและแข่งขันได้มากขึ้น

Software Park Thailand, NSTDA / เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช.


เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ด้วยภารกิจในการสร้างระบบนิเวศซอฟต์แวร์ที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมฯ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างเครือข่าย และการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย โดยมีการจัดอบรมเฉพาะทางในด้าน AI วิทยาการข้อมูล และ IoT สนับสนุนการสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมมาตรฐานสากลด้วยการรับรองมาตรฐาน CMMI นอกจากนี้ ยังส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขยายโอกาสทางการตลาดไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซอฟต์แวร์พาร์คประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง


MEKHA V Co., Ltd. / บริษัท เมฆา วี จำกัด


เมฆา วี คว้ารางวัล ASICIO 2024 DX Award สาขา Emerging Digital Solutions & Ecosystem Award”


บริษัท เมฆา วี จำกัด ได้รับรางวัล ASOCIO 2024 DX Award ในสาขา Emerging Digital Solutions & Ecosystem Award จากสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งเอเชีย-โอเชียเนีย (ASOCIO) ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นการยกย่ององค์กรที่มีความโดดเด่นในด้านการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลและสร้างระบบนิเวศที่มีความยั่งยืน โดยบริษัท เมฆา วี จำกัด ได้สร้างสรรค์ผลงาน Digital Solutions ที่ทันสมัยและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อและตอบโจทย์ธุรกิจในยุคดิจิทัล นอกจากนี้บริษัทฯ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ


ซึ่งบริษัท เมฆา วี จำกัด คือ บริษัทสตาร์ทอัพเรือธง จากกลุ่ม ปตท. อีกทั้งยังเป็นผู้นำในการให้บริการด้าน AI, Robotics และ Digital Transformation ด้านความยั่งยืนอีกด้วย โดย เมฆา วี มีพันธกิจในการส่งเสริมและยกระดับเทคโนโลยี AI และคลาวด์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรและสร้างธุรกิจใหม่ โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี 5 หมวด ได้แก่

1. PowerTech - เทคโนโลยีด้านการจัดเก็บข้อมูลพลังงาน

2. HealthTech - เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ

3. MobilityTech – เทคโนโลยีเพื่อยานยนต์

4. IndustrialTech - เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม

5. CreativeTech - เทคโนโลยีเพื่อความสร้างสรรค์

และนอกจากรางวัล ASOCIO 2024 DX แล้ว เมฆา วี ยังได้รับรางวัล Microsoft Partner of the Year 3 ปีซ้อน (ปี 2022, 2023 และ 2024) โดยล่าสุด ได้รับรางวัล Industry Award จากการนำเสนอนวัตกรรมและโซลูชันที่โดดเด่นด้าน Energy and Resources ทั้งนี้ เมฆา วี ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะก้าวเป็นผู้นำด้าน AI, Robotics และ Digitalization ในประเทศไทยภายใน 5 ปีอีกด้วย

Assoc. Prof. Dr. Tiranee Achalakul , Big Data Institute / ดร.ธีรณี อจลากุล สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่


BDI คว้ารางวัล ASOCIO 2024 DX Award สาขา Women in Tech Award in Public Sector


ชูพลังหญิงในองค์กรมีกว่า 40% พร้อมมุ่งมั่นประยุกต์ใช้ IT เพื่อพัฒนาองค์กรตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ


รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) มอบหมายให้นายสุธี อุไรวิชัยกุล รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ผศ.ดร.พร พันธุ์จงหาญ (รักษาการ) ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมและประสานเครือข่าย และ ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาวุโส เข้าร่วมงานแสดงความยินดีในการรับรางวัล ASOCIO 2024 DX Award & APICTA 2024 Awards ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ ถนนสีลม จัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI)


เนื่องในโอกาส สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ได้รับรางวัล ASOCIO 2024 DX Award สาขา Women in Tech Award in Public Sector ในการประชุม ASOCIO 2024 Digital Summit ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 จัดโดยสมาพันธ์ ASOCIO (Asian-Oceanian Computing Industry Organization) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่มีสมาชิกประกอบด้วยสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการจาก 24 ประเทศในภาคพื้นเอเชียโอเชียเนีย ซึ่งประเทศไทย คือ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI)


ทั้งนี้ BDI คือ หน่วยงานของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อการขับเคลื่อนประเทศ สร้างคุณค่าทางสังคม และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน จึงพร้อมมุ่งมั่นในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพและเติบโตต่อเนื่อง พร้อมรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน สู่การออกแบบนโยบายกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศอย่างมีทิศทาง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน


สำหรับปัจจุบัน BDI เป็นหน่วยงานที่มีความหลากหลายของบุคลากรในที่ทำงาน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนที่อายุระหว่าง 22-55 ปี โดยมีบุคลากรราว 170 คน เป็นผู้หญิงกว่า 40% และ 80% ของบุคลากรทั้งหมดเป็น Data Scientist, Data Engineer และ AI Engineer สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานด้านเทคโนโลยี ของหน่วยงานภาครัฐยุคใหม่ ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น พร้อมรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งเป็นประโยชน์เอื้อต่อภารกิจขององค์กร ตอบโจทย์นโยบายของภาครัฐต่อไป


Mrs. Jinda Boonlarptaveechoke ,Summit Computer Co., Ltd. /  คุณจินดา บุญลาภทวีโชค บริษัท ซัมมิทคอมพิวเตอร์ จำกั

สมาคม ATCI ประกาศยกย่อง คุณจินดา บุญลาภทวีโชค รับรางวัลจาก ASOCIO ในสาขา Women in Tech Award  in Private sector ประจำปี 2567

สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ภูมิใจประกาศว่า คุณจินดา บุญลาภทวีโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท คอมพิวเตอร์ จำกัด ได้รับรางวัลเกียรติยศ ASOCIO 2024 DX Award สาขา Women in Tech Award in Private Sector จากสมาพันธ์องค์กรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งเอเชีย-โอเชียเนีย (ASOCIO) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผลงานโดดเด่นและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศและภูมิภาค


จินดา บุญลาภทวีโชค มีบทบาทสำคัญในการนำพา Summit Computer ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2529 และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในปี 2533 โดยนำความรู้และประสบการณ์ในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์มาพัฒนาบริษัทให้กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย ปัจจุบัน บริษัท ซัมมิทคอมพิวเตอร์ เป็นที่รู้จักในด้านการนำเสนอโซลูชัน IT ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โดยมีทีมงานที่แข็งแกร่งกว่า 200 คน ซึ่งมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน บริษัทได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรทางธุรกิจมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง

นอกเหนือจากความสำเร็จทางธุรกิจ คุณจินดายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของไทย โดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสมาคม ATCI และยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อก่อตั้งโครงการ “พัฒนาบุคลากรด้านไอทีสู่ตลาดสากล” โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากจนขยายไปสู่มหาวิทยาลัยสวนดุสิตในปี 2565 นับเป็นการสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้รับการฝึกฝนและพัฒนาทักษะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้


นอกจากบทบาทในการเป็นผู้นำองค์กร คุณจินดายังมีส่วนร่วมในงานสาธารณกุศล โดยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ในตำแหน่งเหรัญญิกและหัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านการกุศลในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

รางวัล ASOCIO 2024 DX Award สาขา Women in Tech Award in Private Sector ในปีนี้ ยืนยันถึงความทุ่มเทและความเป็นผู้นำที่สร้างสรรค์ของคุณจินดา ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งเสริมความสำเร็จให้กับบริษัท ซัมมิทคอมพิวเตอร์ แต่ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศและภูมิภาคอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัล ASOCIO Women in Tech Award

รางวัล ASOCIO Women in Tech Award เป็นรางวัลระดับนานาชาติที่มอบให้แก่บุคคลที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย รางวัลนี้เป็นการยกย่องถึงความเป็นผู้นำสตรีที่มีวิสัยทัศน์ และความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้แก่อุตสาหกรรมและสังคม



TRC Fund Raising Bureau / สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย


สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย DonationHUB “รับ” เพื่อ “ให้” ศูนย์รวมการบริจาคและการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือของสภากาชาดไทย มุ่งมั่นต่อยอดพัฒนารูปแบบการหารายได้การกุศลเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้นหลังจากปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่สามารถจัดงานกาชาดประจำปี ณ สวนลุมพินี ได้ จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มงานกาชาดออนไลน์ งานออกร้านคณะภริยาทูตออนไลน์ โดยนำกิจกรรม อาทิ การจำหน่ายสินค้า การประกวดร้านงานกาชาด การตรวจดวงชะตาพยากรณ์ ถ่ายทอดสดการแสดง จำหน่ายสลากกาชาด เกมส์ และการบริจาคเงินผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งก็มีผู้ร่วมกิจกรรมงานกาชาดกลุ่มใหม่ที่มีอายุน้อยลงเพิ่มมากขึ้น นับเป็นโอกาสของการขยายขีดความสามารถด้านการหารายได้การกุศลให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป www.iredcross.org เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการจัดกิจกรรมหารายได้การกุศลทางดิจิทัลของสภากาชาดไทย พัฒนา Feature & Function เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมหารายได้ภาคองค์กร และบุคคลทุกรูปแบบ อาทิ การประมูลภาพวาด เครื่องประดับ จำหน่ายสินค้าที่ระลึก รับสมัครแข่งขันเดินวิ่ง จัดการแข่งขัน ประกวด หรือออกแบบ microsite เฉพาะกิจกรรมของแต่ละองค์กร ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานเริ่มมาจัดกิจกรรมกับสภากาชาดไทยผ่าน iRedcross นอกจากนั้นยังออกแบบเกมส์และกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อดึงดูดให้เข้าแพลตฟอร์มได้ทุกวัน พัฒนาการรับบริจาคให้มีวิธีชำระเงินหลากหลายพร้อมลดหย่อนภาษี 2 เท่า และอนาคตจะเพิ่มการบริการของสภากาชาดไทยบนแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งสำนักงานจัดหารายได้ เชื่อมั่นว่าแพลตฟอร์ม iRedcross จะเพิ่มกลุ่มผู้บริจาคกลุ่มใหม่ให้กับสภากาชาดไทยได้และเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการหารายได้ที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งภาคบุคคลและองค์กรอย่างยั่งยืน

ARIP Public Company


ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19  บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลและอีเวนท์เสมือนจริง เพื่อรองรับองค์กรต่าง ๆ ที่ใช้โซลูชันออนไลน์มากขึ้น รวมถึงสภากาชาดไทย ที่ให้บริษัทร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มงานกาชาดออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้เราขยายขีดความสามารถและตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล


ในระหว่างการดำเนินงานของงานกาชาดออนไลน์ เราได้ค้นพบทั้งความท้าทายและโอกาสสำคัญ นั่นคือ การสร้างแพลตฟอร์มระดมทุนที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนให้การระดมทุนของสภากาชาดไทยสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน



สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ฉลองรางวัลทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเวที Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) 2024  ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม โดยผลงานประเทศไทยได้ 11 รางวัล


สุภัค  ลายเลิศ นายกสมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย กล่าวว่า ในการแข่งขัน Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) เวทีการแข่งขันเพื่อเฟ้นหาผลงานทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลดีเด่นในระดับเอเชียแปซิฟิค โดยในปี 2024  ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ประเทศไทยได้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 18 ผลงาน โดยผลงานการแข่งขันตัวแทนประเทศไทยได้รับรางวัล Winner 4 รางวัล First Runner-up 2 รางวัล Second Runner-up 2 รางวัล และ Merit 3 รางวัล  ผลรางวัลรวมประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 จาก 16 กลุ่มประเทศ นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับรางวัลพิเศษอีก 1 รางวัลจากผลงานของนักเรียน คือ รางวัล People's Choice Award ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษที่มอบให้แก่ผลงานนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลโหวตมากที่สุดในการแข่งขันAPICTA 2024 สมาคมขอขอบคุณผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกทีมที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการพัฒนาผลงาน และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย


ผลงานของประเทศไทยรับรางวัล Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) 2024


หมวดการแข่งขัน

1.    หมวด Consumer สาขา Digital Marketing / Advertising and Marketplaces

-      รางวัล Second Runner-up บริษัท เค.จี. แอนด์ แพทริค จำกัด และ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อผลงาน ว่าง

ว่าง คือ crowdsourcing platform ตลาดข้อมูลออนไลน์ที่นำเจ้าของข้อมูลและคนว่างมาพบกัน       เมื่อเจ้าของข้อมูลที่มีข้อมูลจำนวนมากและต้องการคนช่วยจัดการกับข้อมูลหรือให้ข้อมูล เช่น        ช่วยระบุประเภทข้อมูล ช่วยคัดเลือกคำชนิดต่าง ๆ ช่วยตัดภาพ หรืออื่นใด สามารถนำงานมาฝากไว้กับว่าง เพื่อให้ผู้ที่มีเวลาว่างมาสร้างรายได้ด้วยการจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น เจ้าของข้อมูลอาจเป็นบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ (Machine learning) นักวิจัยในวงการการศึกษา นักวิจัยทางการตลาด หรือใครก็ได้ที่ต้องการคนช่วยจัดการหรือให้ข้อมูล ส่วนคนว่างจะเป็นใคร อยู่ที่ใดในโลกก็ได้ ที่พอมีเวลาช่วยตอบคำถามและช่วยจัดการข้อมูลตามที่เจ้าของระบบ


2.    หมวด Industrial สาขา Resources, Infrastructure & Utilities

-      รางวัล Second Runner-up บริษัท อินเทลเล็คท์ เน็ตเวิร์ค เว็บ จำกัด ชื่อผลงาน WiPLUX

WiPLUX เป็นผลิตภัณฑ์ด้าน IIoT&AIoT พร้อมแพลทฟอร์มสำหรับภาคธุรกิจและองค์กรที่ใช้ในการควบคุมไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงานและเพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย โดยใช้งานได้ทั้งระบบ Online และในเครือข่ายปิดในระบบ Offline


3.    หมวด Inclusion and Community Services สาขา Health & Inclusion

-       รางวัล Winner บริษัท ทรูอาย จำกัด ชื่อผลงาน True Eye Preventive Health Hero

ระบบ AI สำหรับตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรค NCDs แบบไม่เจ็บตัว จากรูปถ่ายจอประสาทตา

4.    Cross Category: Research & Development             

-      รางวัล Winner บริษัท ทรูอาย จำกัด ชื่อผลงาน True Eye Preventive Health Hero

ระบบ AI สำหรับตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรค NCDs แบบไม่เจ็บตัว จากรูปถ่ายจอประสาทตา

5.    หมวด Student Project      

สาขา Junior Student

-     รางวัลWinner โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ชื่อผลงาน G steps

G Step เป็นนวัตกรรมรองเท้าอัจฉริยะที่มีความสามารถในการนับก้าวการเดิน คำนวณระยะทางและแคลอรี่ไปพร้อมกัน โดยการออกแบบร่วมกับไมโครคอนโทรเลอร์ร่วมกับเซนเซอร์ชนิดต่าง ๆ เพื่อมีการเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับ G steps Application โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บุคคลทั่วไปมีความสนใจในการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และสามารถดึงดูดความสนใจด้วยการสามารถเล่นเกม ทำ Quest และภารกิจเพื่อให้ได้เหรียญในการนำไปแลกซื้อของได้ มี GPS ในการติดตามการเดินทางไปแต่ละที่ ป้องกันการสูญหายและถูกขโมยได้ รวมทั้งมีระบบไฟ สามารถเปลี่ยนสีให้กับรองเท้าได้ เพื่อช่วยดึงดูดความสนใจในการออกกำลังกายสำหรับเด็กด้วยเช่นเดียวกัน นวัตกรรมนี้  ถูกพัฒนามากว่า 1 ปี ได้รับรางวัลในการแข่งขันนวัตกรรมหลายรายการ และมีการทดลองนำไปใช้งานกับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่ามีความพึงพอใจสูงและอยากให้มีการผลิตเพื่อการใช้งานจริง 

-      รางวัล Merit โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ชื่อผลงาน BuddyBear

ในปัจจุบันผู้คนวัยทำงานต้องใช้ชีวิตมุ่งเน้นไปทางด้านการทำงานหาเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัว เนื่องจากเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ปกครองที่ต้องเลี้ยงดูลู ไปพร้อมกับหน้าที่การงานที่ต้องดูแล ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้กับผู้ปกครองที่ไม่มีเวลามากเพียงพอที่จะดูแลลูก จากงานวิจัยพบว่าเด็กอายุช่วง 4-10 ปี เป็นวัยสำคัญที่ต้องให้ความดูแลในเรื่องของการพัฒนาการด้านสำคัญทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่: 1. พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว 2. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา 3. พัฒนาการด้านการเข้าใจและการใช้ภาษา 4. พัฒนาการด้าน

การช่วยเหลือตนเองและสังคม  หากเด็กขาดผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับช่วงเวลานี้จะทำให้พัฒนาการ

ทั้ง 4 ด้านล่าช้า และส่งผลให้ขาดอุปนิสัยที่ควรจะมี เช่น การแบ่งปัน การอดทน การเข้าสังคม และการรู้จักอดออม เป็นต้น จึงเกิดเป็นนวัตกรรม BuddyBear ที่จะเป็นเสมือนครูและเพื่อน ที่จะคอยดูแลและเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กไปพร้อมๆ กันได้


-   รางวัลMerit ศูนย์หุ่นยนต์ โรโบมายด์ ชื่อผลงาน ORAL-C : Gingivitis Detection

Bot (บอท) ช่วยประเมินโอกาสการเป็นโรคเหงือกอักเสบ ก่อนพบทันตแพทย์ โดยใช้ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือรุ่นทั่วไป ทำให้ทุกคนเข้าถึงการใช้งานได้จากทุกที่ทุกเวลา ปัจจุบันรอรับผลตรวจได้ภายใน 3 นาที และให้ความแม่นยำสูงกว่า 70% ประวัติและข้อมูลของนักเรียน

สาขา Senior Student

-     รางวัลWinner สาขา Senior Student: Solutions โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

ชื่อผลงาน KidneyLifePlus+

KidneyLifePlus+ เป็นนวัตกรรมที่ช่วยคัดกรองโรคไตจากภาพจอประสาทตาด้วยปัญญาประดิษฐ์ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการคัดกรองได้ง่ายและราคาถูก และมีส่วนช่วยในการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไต

-         รางวัล First Runner-up สาขา Senior Student: Solutions โรงเรียนปรินส์รอยเเยลส์วิทยาลัย

ชื่อผลงาน EIBraille

ช่วยผู้พิการทางการมองเห็น ให้เข้าถึงการศึกษาผ่าน EIBraille box ด้วย AI-Driven Assistance

-     รางวัล First Runner-up สาขา Senior Student Projects: Applications โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี   ชื่อผลงาน ThirdEye

อุปกรณ์ขนาดเล็กเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนตาบอด ด้วยการระบุตำแหน่งสิ่งกีดขวาง อ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ตรวจสอบพื้นผิวต่างระดับ จากภาพแบบเรียลไทม์ ใช้งานผ่านระบบผู้ช่วยเสียง     โดยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

 สาขา Tertiary Student

-     รางวัล Merit มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชื่อผลงาน ALISA

ALISA ถูกออกแบบขึ้นสำหรับการสร้าง prompts ที่เหมาะสมในการออกแบบ UI สำหรับผู้สูงอายุ โดยผู้ใช้สามารถระบุความต้องการในการออกแบบ และแพลตฟอร์มจะสร้าง prompts ที่เหมาะสมและปรับแต่งให้โดยอัตโนมัติ 

6.    People's Choice Awards สาขา Senior Student Projects: Solutions

-         โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ชื่อผลงาน KidneyLifePlus+

COMMENTS