22 ก.พ. 2568 117 0

ดีอี หนุนหน่วยงานรัฐ-อปท. ใน EEC ใช้ระบบ 'e-Office' เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันดันไทยเป็น Digital Hub อาเซียน

ดีอี หนุนหน่วยงานรัฐ-อปท. ใน EEC ใช้ระบบ 'e-Office' เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันดันไทยเป็น Digital Hub อาเซียน

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2567 – 2570 ณ โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน จังหวัดชลบุรี โดยมี นายธนนท์ พรรพีภาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน   เข้าร่วมการประชุมฯ กว่า 200 คน และรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ กว่า 1,400 วิว


ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่การรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ได้ร่วมกล่าวถึงภาพรวมการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 5 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ EECให้ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค พร้อมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล


โอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าวว่า กระทรวงดีอี และ EEC ได้ร่วมจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2567 – 2570 โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัล เตรียมความพร้อมกับการลงทุนในด้านดิจิทัลในอนาคต

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแล้ว เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของประเทศ จำเป็นต้องมีการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากข้อมูล ประกอบกับการให้สิทธิพิเศษ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อเร่งผลักดันการปรับเปลี่ยนพื้นที่ EEC ให้เป็น “Smart Region”

ทั้งนี้ร่างแผนปฏิบัติการฯ ปี 67 – 70 เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในพื้นที่ EEC ให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้มีการขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุมพื้นที่แล้ว 95% และมีการวางโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ



สำหรับแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่ มีแนวทางในการพัฒนา 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ทันสมัย รองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การเติบโตของเมืองและการลงทุน

รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านดิจิทัล ให้เป็นระบบ มีมาตรฐาน ประกอบด้วยแผนงาน/โครงการสำคัญ อาทิ โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) แผนงานพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อรองรับอุตสาหกรรม การลงทุน และการเติบโตของเมือง

และแนวทางที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับการบริหารจัดการเมืองให้มีประสิทธิภาพ อย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการภาครัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ประกอบด้วยแผนงาน/โครงการสำคัญ อาทิ โครงการไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเล่ย์ (Thailand Digital Valley) พัฒนาศูนย์ทดสอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยดำเนินการต่อเนื่องจากแผนระยะที่ 1 และแผนงานยกระดับเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ


ขณะเดียวกัน กระทรวงดีอี พร้อมสนับสนุนการยกระดับประสิทธิภาพของหน่วยงานระดับท้องถิ่น มุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยการพัฒนาระบบการทำงานของหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการบริหารจัดการและการอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชานในพื้นที่ ด้วยระบบ e-Office

“การปรับเปลี่ยนการทำงานของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ EEC ไปสู่การเป็น “Smart Region” โดยยกระดับการทำงานของระบบราชการเป็นอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดของ EEC สามารถประสานงานร่วมกับสำนักงานสถิติจังหวัดในการนำระบบ e-Office มาใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมี บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เป็นหน่วยงานเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งหากหน่วยงานใน EEC สามารถเชื่อมโยงบูรณาการกันได้ จะทำให้มีประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ การให้บริการภาคประชาชนมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รองรับการลงทุนของภาคเอกชนอย่างเต็มศักยภาพ มีความมั่นคงปลอดภัย ภายใต้ความโปร่งใสและตรวจสอบได้” ปลัดกระทรวงดีอี กล่าว

 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของกรอบการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ผ่านการเทรนนิ่งในกระบวนการของ “Digital Valley” ด้วยการพัฒนาบุคลากร สร้างกระบวนการความคิดให้มีความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่นในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประชาชน ซึ่งจะทำให้ในพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ที่เป็นหมุดหมายของการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน

COMMENTS