7 ม.ค. 2562 2,408 50

CAT สนับสนุน TESA Top Gun Rally 2019 พัฒนาระบบการจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0

 CAT สนับสนุน TESA Top Gun Rally 2019 พัฒนาระบบการจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0

ดร.ณัฎฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า CAT ได้ร่วมสนับสนุนการจัดประชันทักษะสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 13 (TESA Top Gun Rally 2019) ที่สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) จัดขึ้นร่วมกับกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และหน่วยงาน ต่าง ๆ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

การแข่งขัน TESA Top Gun Rally 2019 ในครั้งนี้กำหนดจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘ระบบการจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0’ (Smart National Historic Site 4.0 : Art & Cultural Conservation & Tourism Information System) ระหว่างวันที่ 6 - 12 มกราคม 2562 ในบริเวณพื้นที่พระราชวังสนามจันทร์และใกล้เคียงในจังหวัดนครปฐม เพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการผสานความรู้ด้านสมองกลฝังตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับช่วยอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้มีนิสิต นักศึกษา นักเรียน และคณาจารย์ในวงการ Embeded System and IoT ของประเทศไทยกว่า 300 คนจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 30 แห่งเข้ามารวมตัวกันสร้างสรรค์และพัฒนาระบบการจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0

ในการแข่งขันครั้งนี้ นิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่เข้าร่วมจะได้เรียนรู้องค์ความรู้และเทคโนโลยีของระบบสมองกลฝังตัวจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อาทิ ได้รับความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการโบราณสถาน การบริหารโครงการ การสร้างระบบฮาร์ดแวร์ ความรู้เกี่ยวกับระบบโครงข่าย LoRaWAN และระบบ CLOUD Computing ประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนา แก้ไขปัญหาตามโจทย์ที่กำหนดขึ้นในแต่ละวันบนหลักการของ Problem-Based Learning สำหรับรูปแบบของการดำเนินแข่งขันในโครงการจะจัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างการแข่งขันจะมีคณะกรรมการประเมินคะแนนสะสมตามหัวข้อและเกณฑ์ที่กำหนด โดยทีมที่มีคะแนนสะสมสูงสุด 4 ลำดับแรกจะได้รับรางวัลเงินสดรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาทพร้อมโล่รางวัล

“CAT เข้าร่วมสนับสนุนโครงการนี้ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการด้านดิจิทัลและระบบสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ โดยได้ติดตั้งโครงข่ายสื่อสาร LoRaWAN หรือ Long Range Wide Area Network ซึ่งเป็นโครงข่ายที่มีคุณสมบัติสำคัญคือสามารถรับส่งสัญญาณได้ในระยะไกล ใช้พลังงานต่ำ เหมาะกับการรับส่งข้อมูลเพื่อตรวจวัดค่าต่าง ๆ และสนับสนุนอุปกรณ์ LoRa Developer Kit สำหรับการแข่งขัน พร้อมทั้งระบบ IRIS ClOUD สำหรับการเก็บและประมวลผลข้อมูล รวมถึงการโปรแกรมระบบเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันได้สัมผัส เรียนรู้ และทดลองใช้งานจริงตามโจทย์ของการแข่งขัน และยังเป็นการเปิดโอกาสและเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้านดิจิทัลให้กับนิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขัน” ดร.ณัฏฐวิทย์ กล่าวในที่สุด

COMMENTS