31 ม.ค. 2562 1,746 82

กลุ่มทรู จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมพัฒนา 5G ตามแนวทางกสทช.

กลุ่มทรู จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมพัฒนา 5G ตามแนวทางกสทช.

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ กลุ่มทรู โดย วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ประกาศความร่วมมือสร้าง “TRUELAB@CHULAENGINEERING: 5G & INNOVATIVE SOLUTION CENTER” ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรมและสร้างสรรค์เทคโนโลยี 5G ตลอดจนโซลูชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มทรูยังได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่นิสิตตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ยุค 5G โดยมี นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ร่วมเป็นเกียรติในงาน

TrueLab@ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center” จะตั้งอยู่ที่อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่กว่า 600 ตร.ม. โดยสร้างให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การขนส่ง ความปลอดภัย รวมถึงการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงาน Use case / Showcase ที่เกิดจากความร่วมมือของจุฬาฯ และกลุ่มทรู นอกจากนี้ TrueLab@ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center” ยังเป็นพื้นที่ในการคิดค้น (Innovative Idea) แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ฝึกอบรม และถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ในรูปแบบของ Open Innovation ซึ่งกลุ่มทรูจะสนับสนุนทั้งทางด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร รวมทั้งการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย และนักศึกษาอีกด้วย

วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มทรู ร่วมผลักดันนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยในยุค Thailand 4.0 อย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาเราเป็นผู้นำในการทดสอบการใช้งาน 5G อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดงาน “True 5G Digital Thailand, The 1st Showcase powered by TrueMove H” ให้คนไทยสัมผัสประสบการณ์ 5G บนสภาพแวดล้อมจริงอย่างเต็มรูปแบบ ล่าสุดกลุ่มทรูได้ผนึกกำลังครั้งสำคัญกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตามแนวทางของกสทช. ที่มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ได้ประกาศให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสนามทดสอบ 5G เพื่อพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ของประเทศเกี่ยวกับ 5G โดยกลุ่มทรูได้ลงทุนสร้างศูนย์การทดลองและวิจัย 5G ที่ครบวงจรเป็นแห่งแรกในไทย ซึ่งเราตั้งใจให้ “TrueLab@Chula Engineering: 5G & Innovative Solution Center” เป็นพื้นที่หลักในการทดสอบและวิจัยเทคโนโลยี 5G ตลอดจนพัฒนาและสร้างสรรค์รูปแบบการใช้งานต่างๆ (Use Case) โดยจะเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา หน่วยงาน และองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่สนใจเข้าใช้งานได้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ของประเทศ และเอื้อประโยชน์ต่อภาคการศึกษาให้ได้เรียนรู้ และสร้างนวัตกร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ”

รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ทางจุฬาฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมและ เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ 5G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ทางคณะฯ จึงได้เตรียมความพร้อมทั้งในด้านของบุคลากรและการสร้างงานวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ 5G เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและทั่วถึง ซึ่งความร่วมมือกับกลุ่มทรูครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญที่ภาคการศึกษาไทยจะได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงการเปิดพื้นที่แห่งการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นที่ TrueLab @ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center ตลอดจนการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้  จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคณาจารย์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนิสิตนักศึกษาให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง สามารถทดสอบและทดลองโซลูชั่นหรือ Use Case ต่างๆ ด้วยตัวเอง รวมทั้งจะเป็นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอีกด้วย

น.พ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า “ภารกิจของกสทช. ในการผลักดันประเทศไทยให้มีความพร้อมก้าวเข้าสู่ยุค 5G เทียบเท่ากับสากลนั้น เป็นภารกิจที่ใหญ่และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้การสนับสนุน ทั้งการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ และการสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์จากการใช้ 5G ซึ่งจะเข้าไปมีบทบาทและมีบริการที่เกี่ยวกับหลากหลายภาคส่วน อาทิ อุปกรณ์เชื่อมต่อ Internet of Things (IoT) ระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System: ITS) ระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) เป็นต้น ซึ่งกสทช. เชื่อว่าว่าการลงทุนจัดตั้ง True Lab นี้จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยมีความรุดหน้าอย่างรวดเร็วและนำพาให้ไทยเข้าสู่ 5G ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้คือภายในปี 2563 นี้ โดยกสทช.มีความตั้งใจที่จะช่วยผลักดันเอกชนให้เกิดบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และที่สำคัญคนไทยได้ทำความรู้จักกับเทคโนโลยี 5G ได้รับประโยชน์จากการประยุกต์ใช้งานต่างๆ อย่างทั่วถึง” 

COMMENTS