29 มิ.ย. 2562 2,284 18

ETDA จัดงาน “1st THAILAND DIGITAL ID SYMPOSIUM 2019” ชวนกูรูนานาชาติแชร์ไอเดีย ผลักดันดิจิทัลไอดีไทยให้สำเร็จ

ETDA จัดงาน “1st THAILAND DIGITAL ID SYMPOSIUM 2019” ชวนกูรูนานาชาติแชร์ไอเดีย ผลักดันดิจิทัลไอดีไทยให้สำเร็จ

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนจัดงานประชุมวิชาการ “1st THAILAND DIGITAL ID SYMPOSIUM 2019” ภายใต้แนวคิด “Unlocking the Potential of Thailand Digital Economy: International Digital ID Use Cases” ปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลไทย มองนานาชาติ เขาใช้ดิจิทัลไอดีให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนานาชาติ ในการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลหรือ Digital ID (ดิจิทัลไอดี) ร่วมกัน นับเป็นงานประชุมวิชาการด้านดิจิทัลไอดีสุดแห่งปี ณ ห้องอินฟินิตี้  บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมและกำลังก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เน้นการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างทัดเทียม 

โดย Digital ID เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกันในระบบดิจิทัล ทำให้การพิสูจน์ยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเดินหน้าผลักดันกฎหมายดิจิทัล หลายฉบับ หนึ่งในนั่นคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3 และ 4) พ.ศ. 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น 

 “ดังนั้น การมีดิจิทัลไอดี หรือระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่มีมาตรฐานและถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยอุดช่องโหว่ของปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกันในระบบดิจิทัล ทำให้การพิสูจน์ยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านออนไลน์ มั่นคงปลอดภัย ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมต่อระบบกับนานาชาติในอนาคตได้ เพราะดิจิทัลไอดีจะมาช่วยปลดล็อกและเติมเต็มศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยได้อย่างเต็มสูบ” ดร.พิเชฐ กล่าว

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า ETDA ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาธุรกรรมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซของประเทศ  มีบทบาทหน้าที่ใน 2 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการผลักดัน และกำหนดมาตรฐาน คือ การกำกับดูแลผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์และการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3 และ 4) พ.ศ. 2562 อีกทั้งการรับช่วงต่อในการผลักดันกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับที่ 4  พ.ศ. 2562 โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงต้นเดือน กรกฎาคม 2562 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะช่วยปลดล็อกและเติมเต็มศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยได้อย่างเต็มกำลัง เพราะทำให้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัย โดยการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งาน และความเห็นของการใช้ Digital ID รวมถึงแนวทางการใช้ Digital ID ในอนาคต ในลักษณะ International symposium มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องของ Digital ID จากหลากหลายสาขาที่ร่วมชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้ต้องมีพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการและธุรกรรมต่าง ๆ ทางดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย โดยมีกฎหมายรองรับ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Digital Thailand  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนไทย

“ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมกันผลักดันให้การใช้ดิจิทัลไอดีเปลี่ยนโฉมหน้าการทำธุรกรรม และการใช้บริการต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองกระดาษและสำเนาบัตรประชาชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย” สุรางคณา กล่าว 

โดยงาน 1st THAILAND DIGITAL ID SYMPOSIUM 2019 นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องดิจิทัลไอดี ร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เป็นการประชุมระดับนานาชาติที่จะเปิดมุมมองให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการมีดิจิทัลไอดี ด้วยการเปลี่ยนเรียนรู้กับกูรูผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ผลักดันการใช้ดิจิทัลไอดี ไม่ว่าจะเป็น เอสโตเนีย อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมทั้งธนาคารโลกที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ นอกจากนี้ในงานยังมีการออกบูธโชว์นวัตกรรม แนวทางการใช้ดิจิทัลไอดีในอนาคตจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนชั้นนำ อย่าง NDID, DataONE, NCB ฯลฯ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลไทยที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนเท่าเทียมกัน

COMMENTS