15 ม.ค. 2563 1,677 0

CAT ร่วมมือ TESA และ ม.พะเยา หนุนเด็กไทยประชันทักษะสมองกล สร้างผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสังคมสูงวัย

CAT ร่วมมือ TESA และ ม.พะเยา หนุนเด็กไทยประชันทักษะสมองกล สร้างผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสังคมสูงวัย

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ร่วมมือกับ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมด้วยเครือข่ายพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมต่างๆ  เปิดเวทีประชันทักษะด้านสมองกลระดับประเทศ “TESA Top Gun Rally ครั้งที่ 14” ระหว่างวันที่ 5-11 มกราคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา โดยในปีนี้ได้มีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศส่งนิสิตนักศึกษารวม 183 คน จำนวน 37 ทีม ร่วมแข่งขันพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในโจทย์หัวข้อ "ระบบติดตามเฝ้าระวังและจัดการสุขภาวะแก่ผู้สูงวัยและประชาชนทั่วไป" 

ดร.วงกต วิจักขณ์สังข์สิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจดิจิทัล CAT กล่าวว่าโจทย์ในปีนี้ สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย  คือการประยุกต์ระบบสมองกลฝังตัวผนวกกับเทคโนโลยี IoTช่วยในการดูแลติดตามสุขภาพและความปลอดภัยของผู้สูงอายุตลอดจนระวังความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ในรูปแบบของอุปกรณ์ติดตัวบุคคล  สามารถแจ้งเตือนสถานการณ์ สภาพแวดล้อมมลภาวะแต่ละพื้นที่ เช่น กระแสลม หมอกควัน โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูงวัย  หรือแจ้งเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นไปยังผู้ดูแลอย่างทันท่วงที

ผลงานเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาบริการด้านดิจิทัลที่สำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้งานกับสมาร์ตซิตี้ซึ่งต้องอาศัยทักษะด้านสมองกลฝังตัว    ทั้งนี้  ผู้เข้าแข่งขันต้องบูรณาการทักษะความรู้ต่างๆ ทั้งโปรแกรม Embeded การออกแบบพัฒนาฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์ IoT และที่สำคัญคือสามารถบูรณาการใช้เครือข่ายไร้สายที่หลากหลาย เพื่อการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไอโอทีเหล่านี้

CAT ได้นำเทคโนโลยีระบบสื่อสารโครงข่าย  LoRa  ที่พัฒนาขึ้นสำหรับ IoT ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ  ร่วมสนับสนุนการแข่งขัน TESA อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีในการสื่อสารข้อมูลของอุปกรณ์สมองกลต่างๆที่ผู้เข้าแข่งขันออกแบบ   รวมทั้งเชื่อมต่อบนระบบคลาวด์ของ CAT เพื่อรองรับการเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ดังกล่าวของทุกทีมที่เข้าแข่งขัน  ทั้งนี้ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ทำงานจริงบนโครงสร้างพื้นฐานที่ CAT ใช้รองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชัน IoT ทั่วประเทศในปัจจุบัน  เป็นจุดเริ่มต้นให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ต่อยอดไปสู่การพัฒนาโครงการสำคัญๆ ด้าน Smart City ของประเทศไทยในอนาคต  โดยล่าสุด CAT ได้ขยายโครงข่าย LoRa เชื่อมต่อบนโครงข่ายพื้นฐานระบบคลาวด์ที่ CATจัดสร้างรองรับการให้บริการคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนเตรียมการประมวลผลด้าน Big Data ที่จะเกิดขึ้นจากข้อมูลจำนวนมหาศาลของหน่วยงานภาครัฐในวันข้างหน้า     

ดร.วงกต กล่าวว่า หลังจากการแข่งขัน TESA  CATเชื่อมั่นว่าผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะสามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมในการทำงานบนเทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารของประเทศ  และสามารถใช้ทักษะที่เกิดขึ้นจากเรียนรู้และการแข่งขันนี้มาประยุกต์กับการทำงานจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงสร้างสรรค์เทคโนโลยีพัฒนาบริการดิจิทัลต่างๆให้ตอบโจทย์สอดคล้องกับสังคมไทยได้อย่างเหมาะสม  โดยทีมชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ “ทีมขิงข่าตะไคร้ใบมะกรูด” สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง  สามารถตอบโจทย์ที่ครบถ้วนทั้งรายละเอียดด้านมุมมองของผู้ใช้งาน เช่น ความเหมาะสมของอุปกรณ์ที่จะใช้ติดตั้งกับผู้สูงอายุ  วิธีการแจ้งเตือนผู้สูงอายุ แจ้งเตือนคนในบ้าน  ตลอดจนมุมของการต่อยอดเชิงพาณิชย์เพื่อพัฒนาเป็นบริการ การกำหนดแพ็คเกจราคา  ฯลฯ    ขณะที่รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ “ทีมฉุนสมุนไพร” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง   รองชนะเลิศอันดับ 2 “ทีมชุมนุมปืนบน”  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   และ รองชนะเลิศอันดับ 3 ทีม “Type your Text” จากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น     

นอกจากนี้ CAT ได้มอบรางวัลพิเศษให้กับ 2 ทีมที่สามารถส่งข้อมูล PM 2.5 ผ่านเครือข่าย LoRa มายัง Server ได้จำนวนข้อมูลสูงสุดคือ ”ทีม BME Ranger” มหาวิทยาลัยมหิดล และ “ทีมไม่ต้องห่วงเพื่อนผมแบกเอง” สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง   โดยภายในงานยังจัดให้พื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ระหว่างภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาเพื่อปรับปรุงผลงานและสานต่อความร่วมมือในอนาคตอีกด้วย

COMMENTS