21 ม.ค. 2563 1,500 0

DEPA ดัน 27 เมืองเข้า “City Possible” โครงการระดับโลกของมาสเตอร์การ์ด เร่งพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ

DEPA ดัน 27 เมืองเข้า “City Possible” โครงการระดับโลกของมาสเตอร์การ์ด เร่งพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ

คำบรรยายภาพ: ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ที่สองจากซ้าย) ร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ด นำโดย มิเกล กามิโน จูเนียร์ รองประธานกรรมการบริหารเมืองระดับสากล (ขวาสุด), จูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ที่สองจากขวา) และ ไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ (ซ้ายสุด) ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ City Possible เครือข่ายระดับโลก เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศไทยสู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ โดยดีป้าได้นำเมือง ทั้งหมด 27 เมืองเข้าร่วมเครือข่ายในครั้งนี้ งานแถลงข่าวจัดขึ้น ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในวันที่ 20 มกราคม 2563

วันนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ประกาศความร่วมมือกับ มาสเตอร์การ์ด ในโครงการระดับโลกที่มีชื่อว่า “City Possible” เพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ซึ่งดีป้าได้นำเมืองที่มีศักยภาพมากถึง 27 เมืองเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ นับเป็นการเข้าร่วมโครงการพร้อมกันเพื่อขยายเครือข่ายที่มากที่สุด นับเป็นก้าวสำคัญของดีป้าในการดำเนินงานสู่เป้าหมายเพื่อให้เกิดเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 100 เมืองภายในปี 2563 หลังจากประสบความสำเร็จกับเมืองนำร่องอย่าง ภูเก็ต ขอนแก่น กรุงเทพฯ และเมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“เมื่อปีที่แล้ว 27 เมืองทั่วประเทศไทยได้ส่งแผนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาสู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะกับดีป้าเพื่อให้ได้รับการประกาศเขตเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะที่ดีป้าสนับสนุนอยู่ ดังนั้น ปีนี้จึงจะเป็นปีของการลงมือปฏิรูปเมืองตามแบบแผนพัฒนาที่ได้ยื่นต่อดีป้า และเพื่อเป็นการส่งเสริมความตั้งใจเหล่านี้ แทนที่จะเลือกเพียงหนึ่งเมือง เราได้นำทั้ง 27 เมืองดังกล่าวเข้าร่วมโครงการ City Possible นับเป็นเกียรติที่เราได้เป็นพันธมิตรรายแรกจากภาครัฐที่เข้าร่วมเครือข่ายของ City Possible” ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าว

การพัฒนาประเทศให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะคือเสาหลักของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไทย เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้ดีขึ้น ตอนนี้หลายพื้นที่ใน 27 เมืองที่ได้รับการประกาศเขตเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้ง 7 องค์ประกอบของการเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะแล้ว อันได้แก่ การสัญจร ชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การปกครอง อาคาร และพลังงาน

ริเริ่มโดยมาสเตอร์การ์ด City Possible เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเครื่องมือด้านเทคโนโลยีอันทรงพลังเพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้ดีขึ้น มอบการเข้าถึงเครือข่ายระดับโลกที่เชื่อมต่อผู้นำเมืองต่างๆ ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา รวมถึงองค์กรภาครัฐและเอกชนจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งสมาชิกโครงการจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และนวัตกรรม รวมถึงเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ความท้าทายและปัญหาที่ทุกเมืองต้องเผชิญเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืน

“ในความเป็นจริง เมืองทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายที่เหมือนๆ กัน หากแต่ต่างฝ่ายต่างแก้ไขปัญหา City Possible จึงทำหน้าที่เสมือนตัวกลางเชื่อมต่อเมืองสมาชิกจากทั่วโลกด้วยข้อมูลและทรัพยากร ทำให้การดำเนินงานเร็วขึ้นและก่อให้เกิดการปกครองเมืองอย่างอัจฉริยะ” มิเกล กามิโน จูเนียร์ รองประธานกรรมการบริหารเมืองระดับสากล มาสเตอร์การ์ด กล่าว “มาสเตอร์การ์ดมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ช่วยส่งเสริมผู้นำเมืองด้วยวิธีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพในระดับสากล เนื่องด้วยเร็วๆ นี้ดีป้ากำลังจะเปิดอบรมหลักสูตรผู้นำขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ  (Chief Smart City Officers) เพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้นำเมืองต่างๆ” 

“สำหรับประเทศไทย มาสเตอร์การ์ดกำลังมองหาช่องทางในการนำกุญแจเมืองมาสเตอร์การ์ด (Mastercard City Key) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจากความร่วมมือกับเมืองโฮโนลูลู (City of Honolulu) เมืองหลวงของรัฐฮาวาย ที่นำการระบุตัวตนมาผูกกับการชำระเงินเพื่อช่วยให้ประชากรสามารถเข้าถึงบริการของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากขึ้น City Key ถือเป็นความสำเร็จโดยตรงจากความร่วมมือและกิจกรรมร่วมที่เกิดจากการสนับสนุนโดยโครงการ City Possible” จูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าว

เมืองยะลา หนึ่งใน 27 เมืองที่ได้รับการประกาศเขตเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงจากความพยายามของนายกเทศมนตรีในการพัฒนาเมืองยะลาให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ “ความสำเร็จของแพลตฟอร์ม City Key ของเมืองโฮโนลูลูเป็นแรงบรรดาลใจที่ทำให้ยะลาเห็นถึงขีดความสามารถของเทคโนโลยีในการนำมาใช้เพื่อหาทางออกที่ครอบคลุมทั้งชุมชน เมื่อชาวยะลามีความภูมิใจในเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ มันจะช่วยดึงดูดความสนใจจากคนภายนอกให้อยากมาอาศัยและท่องเที่ยว รวมถึงทำธุรกิจพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว

ปัจจัยสู่ความสำเร็จคือการผลักดันการพัฒนาอย่างเนื่อง การดำเนินงานขั้นต่อไปของดีป้าคือการร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ดในการนำความรู้ความชำนาญจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private-Partnerships; PPPs) ริเริ่มโดยหน่วยงานฝ่ายความสัมพันธ์ภาครัฐ (Government Engagement) ของมาสเตอร์การ์ด มาสู่เมืองอัจฉริยะของไทย

โครงการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะจำเป็นต้องมีเงินลงทุนในการผลักดันให้เกิดขึ้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นวิธีในการหมุนเวียนเงินทุนและดึงเอาความสามารถของภาคเอกชนมาใช้เพื่อเป้าหมายส่วนรวม “การจัดการเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องและการจัดหาเงินทุนมักเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โครงการพัฒนาหลายโครงการล่าช้า มาสเตอร์การ์ดจึงเล็งเห็นว่า การสนับสนุนดีป้าผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเมืองไทยจะช่วยให้ดีป้าก้าวผ่านอุปสรรคเพื่อให้เมืองน่าอยู่อัจฉริยะกลายเป็นจริงได้” เจอรัล ซัน รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายความสัมพันธ์ภาครัฐ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าว

ในช่วงกลางปี 2563 ดีป้าจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Smart City Showcase เชิญเมืองสมาชิกในโครงการ City Possible มาร่วมจัดแสดงแผนการดำเนินงานการเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ พร้อมทั้งเชิญเมืองอัจฉริยะของไทยขึ้นเวทีใหญ่ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงเมือง พร้อมทั้งหาทางออกและความร่วมมือใหม่ๆ

COMMENTS